ส่งสัญญาณเซ็นสัญญา เร่งมือสร้าง รถไฟฟ้าสายสีส้ม

21 ก.พ. 2567 | 08:30 น.

ส่งสัญญาณเซ็นสัญญา เร่งมือสร้าง รถไฟฟ้าสายสีส้ม คอลัมน์บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3968

แม้จะมีความพยายามคัดค้านจากหลายภาคส่วน สำหรับการประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทในรูปแบบ PPP Net Cost และนำไปสู่คดีอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งปัจจุบันเหลืออีก 1 คดี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คือ คดีบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ฟ้องการประมูลสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการกีดกันด้านการแข่งขัน และกระทรวงคมนาคมได้ถอนเรื่องการเสนอผลการคัดเลือกเอกชน ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 สมัยรัฐบาลประยุทธ์ เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าควรรอการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จก่อน

 

โดยคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้ กระทรวงคมนาคม ในยุคของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการฯ ส่งสัญญาณนำผลการคัดเลือกเอกชนเข้าสู่การพิจารณาของครม.เศรษฐา นั่นแสดงว่าคดีได้สิ้นสุดลง ซึ่งเบื้องต้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เอกชน คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน พร้อมเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุน วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ทั้งก่อสร้างฝั่งตะวันตกและ สัมปทานเดินรถทั้งระบบ 30 ปี ฝั่งตะวันตะตก-ตะวันออก

 

อีกประเด็นที่เห็นสัญญาณของรัฐบาลชุดนี้ เร่งรัดลงมือก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย)  มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร คือเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน พื้นที่ครอบคลุม 29 แขวง รวม 11 เขตของกรุงเทพมหานครมีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี เพื่อเวนคืนก่อสร้างสายสีส้ม ช่วงตะวันตกมีที่ดินที่จะต้องเวนคืน ประมาณ 380 แปลงรวมทั้งมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอนประมาณ 400 หลัง

ตามแผนหากรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ลงนามสัญญากับเอกชนภายในเดือนเมษายนนี้ จะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนพฤษภาคม 2567-เมษายน 2573 และเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายน 2573

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออกระยะทาง 22.57 กิโลเมตร งานโยธา 6 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ที่ รฟม.เคยยืนยันมาโดยตลาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2568 ล่าสุดจะเปิดให้บริการได้ ในเดือนตุลาคม 2570 เพราะต้องมีเรื่องของส่วนงานติดตั้งระบบไฟฟ้า และงานเดินรถของส่วนตะวันออกอยู่ในส่วนหนึ่งสัญญาร่วมลงทุน

เอาเป็นว่าต้องอดใจรออีกพักใหญ่ๆ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะโซนตะวันออกของกทม. แม้จะเห็นตัวสถานีโผล่แล้วก็ตาม!!!