ความเห็น ป.ป.ช. ข้อเสนอแนะเงินดิจิทัล ที่รัฐบาลต้องรับฟัง

20 ม.ค. 2567 | 00:30 น.

ความเห็น ป.ป.ช. ข้อเสนอแนะเงินดิจิทัล ที่รัฐบาลต้องรับฟัง บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3959

ร่างเอกสารข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ต่อ โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล ได้วิเคราะห์ภาระที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลอ้างว่า เศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในภาวะ “วิกฤต” และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย ตามนิยามของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ แต่อาจมีการเจริญเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว หรือ ตํ่ากว่าศักยภาพ

ข้อเสนอแนะของป.ป.ช.อีกประเด็นที่สำคัญคือ ผลการศึกษาเชิงประจักษ์เกี่ยวกับตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ในกรณีมาตรการเงินโอนให้กับประชาชน (transfer) จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้ให้ข้อมูลว่าตัวทวีคูณทางการคลังในกรณีที่เป็นเงินโอนจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% เท่านั้น ตํ่ากว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุนโดยตรงของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ใหม่ในระบบเศรษฐกิจเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงบประมาณของรัฐสภา ประเมินผลกระทบทางการคลัง ที่สำคัญของโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่าจะก่อให้เกิดภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 15,800 ล้านบาทต่อปี (คำนวณ จาก Government Bond Yield อายุ 10 ปี วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เท่ากับ 3.16%) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น 2.65% การประมาณการรายได้สุทธิ หลังหักจัดสรร เพิ่มขึ้นภายใน 5 ปี ประมาณ 145,000 ล้านบาท คาดว่าจะชำระต้นเงินกู้เพิ่มจากเดิมปีละ 125,000 ล้านบาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาระดอกเบี้ยและเงินต้นที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณโดยตรง โดยเฉพาะงบลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สอดคล้องกับความเห็นของสำนักงบประมาณ ที่แจ้งต่อป.ป.ช.ว่า หากต้องใช้งบประมาณสำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อาจจะต้องปรับลดงบประมาณ หรือ งบลงทุนของหน่วยงาน ซึ่งย่อมกระทบต่อหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการดำเนินการที่อาจต้องเลื่อนออกไป อาทิ งานก่อสร้างที่อาจจะต้องมีการขยายระยะเวลา ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ

 

ป.ป.ช. เสนอว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็นเพียงใด ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ตํ่ากว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า

เราเห็นว่า ความเห็นของป.ป.ช.ต่อโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นข้อเสนอแนะทางวิชาการที่รัฐบาลต้องเปิดใจกว้างรับฟังโดยปราศจากอคติ อย่าทึกทักไปเองว่า มีการวางธงให้โครงการนี้เดินหน้าไม่ได้ ตามที่ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแถลงข่าว