‘ประวัติความประพฤติ’ มีผลต่อการอนุญาตมี และใช้ปืน

29 ม.ค. 2566 | 00:30 น.

‘ประวัติความประพฤติ’ มีผลต่อการอนุญาตมี และใช้ปืน : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,857 หน้า 5 วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2566

กล่าวกันว่า ... สายนํ้าไม่ไหลย้อนกลับฉันใด เราก็ไม่อาจกลับไปแก้ไขอดีตได้ฉันนั้น ซึ่งในหลายกรณีที่แม้ว่าจะเป็นอดีต หรือ เรื่องที่ผ่านไปแล้ว แต่ก็ยังอาจส่งผลถึงปัจจุบันได้ ฉะนั้น จึงควรต้องควบคุมและระมัดระวังความ ประพฤติต่างๆ ของตนเอง ดังเช่นในคดีอุทาหรณ์ที่นำมาคุยกันในวันนี้ ซึ่งประวัติความประพฤติในอดีต ส่งผลต่อการพิจารณาอนุญาตมีและใช้อาวุธปืนในปัจจุบัน 

เหตุที่เป็นเช่นนี้... เนื่องเพราะการขออนุญาตมี และใช้อาวุธปืนรวมทั้งเครื่องกระสุนปืนนั้น ถือเป็นอาวุธที่มีอันตรายถึงชีวิต จึงต้องมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตไว้ ในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ ปืน พ.ศ. 2490 ตามมาตรา 13 เป็นต้นว่า ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ มีอาชีพและรายได้ มีชื่อในทะเบียนบ้านในท้องที่ที่ยื่นคำขอไม่น้อยกว่า 6 เดือน 

 

 

 

รวมทั้งไม่เป็นบุคคลที่ไร้ความสามารถ หรือ วิกลจริต ไม่เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันอาจกระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่เคยต้องโทษจำคุก ในฐานความผิดที่กฎหมายกำหนด หรือพ้นโทษยังไม่ครบตามเวลา  

ทั้งนี้ ในมาตรา 9 กำหนดให้การขอมี และใช้อาวุธปืน จะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬา หรือยิงสัตว์เท่านั้น โดยนายทะเบียนท้องที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่ผู้ขอ 

 

สำหรับข้อพิพาทที่จะคุยกันวันนี้ ... เป็นเรื่องของผู้ฟ้องคดีซึ่งยื่นคำขอมี และ ใช้อาวุธปืนชนิด รีวอลเวอร์ ขนาด .22 ต่อนายอำเภอ โดยระบุวัตถุประสงค์ว่า ต้องการมีไว้เพื่อใช้ป้องกันตัวและทรัพย์สิน นายอำเภอจึงมีหนังสือถึงสถานีตำรวจภูธร ให้ตรวจสอบประวัติของผู้ฟ้องคดี ผลการตรวจสอบจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรพบว่า ผู้ฟ้องคดีมีประวัติต้องหาคดีอาญา 4 คดี ที่เกี่ยวกับข้อหาเล่นการพนันไพ่ และ ข้อหามียาเสพติด (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 

 

 

‘ประวัติความประพฤติ’ มีผลต่อการอนุญาตมี และใช้ปืน

 

 

 

ประกอบกับพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาชิกสภา อบต. ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้าน ต่างยืนยันทำนองเดียวกันว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประพฤติไม่เรียบร้อย ไม่เหมาะสมที่จะมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง นายอำเภอจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอ ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องนายอำเภอต่อ ศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพิพาท

คดีมีประเด็นปัญหาว่า กรณีผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน มีประวัติต้องหาในคดีอาญา ถือเป็นบุคคลที่มีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันอาจกระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 13 วรรค หนึ่ง (9) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯหรือไม่? และการที่นายทะเบียนท้องที่ใช้ดุลพินิจไม่ออกใบอนุญาต เนื่องจากเห็นว่า เป็นผู้ขาดคุณสมบัติด้วยเหตุดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า นายอำเภอ (นายทะเบียนท้องที่ประจำอำเภอ) มีอำนาจดุลพินิจในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้บุคคลมีและใช้อาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งการอนุญาตดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงกำหนดให้บุคคลมีและใช้อาวุธปืนได้เท่าที่จำเป็นเพื่อใช้ในการป้องกันตัว หรือทรัพย์สิน หรือ ใช้ในการกีฬา หรือยิงสัตว์เท่านั้น และห้ามมิให้บุคคลบางประเภทมีและใช้อาวุธปืนอีกด้วย 

เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งพบว่า ผู้ฟ้องคดีต้องหาคดีอาญาหลายข้อหา ที่เกี่ยวกับการพนัน และ มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ประกอบกับพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ให้การยืนยันว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประพฤติไม่เรียบร้อย ไม่เหมาะสมที่จะมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง

จึงเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประพฤติไม่เหมาะสม ที่จะมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันอาจกระทบกระเทือน ถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง (9)แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ  

ดังนั้น การที่นายอำเภอได้ใช้อำนาจพิจารณา ตามแนวทางที่กำหนดในหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0501/ว 886 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2521 เรื่อง หลักการพิจารณาออกใบอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวและทรัพย์สิน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงจากการสอบ สวนคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดี 

ประกอบกับพยานหลักฐานต่างๆ แล้วพิจารณาเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ออกใบอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืน ตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง (9) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีคำสั่งปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตแก่ผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 46/2564) 

สรุปได้ว่า ปืนซึ่งถือเป็นอาวุธที่สามารถทำอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตของบุคคลได้ กฎหมายจึงต้องควบคุมการมีและใช้อย่างเข้มงวด โดยการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนไว้ 

รวมทั้งมีแนวทางในการพิจารณาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติตามหนังสือเวียนกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอที่ต้องไม่ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และให้สอบสวนความจำเป็น โดยพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่หรือสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตรวจสอบประวัติจากเจ้าพนักงานตำรวจมาประกอบการพิจารณา 

โดยชนิดและขนาดอาวุธปืนซึ่งจะอนุญาตนั้น ให้พิจารณาถึงฐานะและความจำเป็นของผู้ขออนุญาตเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ การอนุญาตให้เอกชนมีและใช้อาวุธปืน จะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬา หรือในการยิงสัตว์ เท่านั้นครับ

ฉะนั้น กรณีที่นายทะเบียนท้องที่มีการสอบสวนและตรวจสอบ พบว่า ผู้ขอมีประวัติความประพฤติไม่ดี เช่น ต้องหาในคดีอาญาหลายคดี ย่อมมีอำนาจดุลพินิจ ที่จะไม่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอได้ ด้วยเหตุเป็นบุคคลที่มีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันอาจกระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน  

อย่างไรก็ดี  ในกรณีที่นายทะเบียนท้องที่พิจารณาแล้วอนุญาตให้ผู้ขอ มีและใช้อาวุธปืนได้ ก็ไม่สามารถนำอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือ ทางสาธารณะ โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้พกพาได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น และเร่งด่วน เพื่อป้องกันตัว หรือ ทรัพย์สินภายในขอบเขตที่กฎหมายให้กระทำได้ หรือ ตามสมควรแก่พฤติการณ์เท่านั้น ซึ่งตามปกติคนทั่วไป ไม่สามารถพกพาอาวุธปืนไปไหนต่อไหนได้นะครับ

 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 หรือที่ www.admincourt.go.th)