ย้ายเสาไฟในที่สาธารณะ... ไม่กีดขวางทางเข้า-ออก ไม่ละเมิด!

03 ก.ค. 2565 | 04:11 น.

ย้ายเสาไฟในที่สาธารณะ... ไม่กีดขวางทางเข้า-ออก ไม่ละเมิด! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,797 หน้า 5 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม 2565

 

ไฟฟ้า... สิ่งจำเป็นที่ทุกคนทุกบ้านต้องการมีต้อง การใช้ แต่ในขณะเดียว กัน กลับไม่ต้องการให้มีเสาไฟมาตั้งอยู่ใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นหน้าบ้านหรือข้างบ้านก็ตามที ยิ่งถ้าเป็นหน้าอาคารร้านค้ายิ่งแล้วใหญ่ เพราะถือว่าทำเลไม่ดี ดูไม่สวยงาม และหากเสาไฟเจ้ากรรมตั้งกีดขวางทางเข้าออกอาคารด้วย ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้สอยอาคารของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอยู่ไม่น้อย

 

ปัญหา “อยากใช้ไฟฟ้า แต่ไม่อยากได้เสาไฟ” จึงเป็นข้อพิพาทที่ เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เพราะไฟฟ้าย่อมมาคู่กับเสาไฟ ทำให้มักมีการร้องขอให้การไฟฟ้าฯ เปลี่ยนตำแหน่งหรือจุดติดตั้งเสาไฟ เช่นคดีที่นายปกครองหยิบยกมาคุยกันในวันนี้ ซึ่งเจ้าของตึกแถวได้ร้องขอให้ย้ายเสาไฟฟ้าที่บดบังหน้าอาคารของตน (ซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิม) ออกไป แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้ยุติลงเพียงแค่นั้น เพราะกลับกลายเป็นว่าเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ไม่พอใจที่การไฟฟ้าฯ ย้ายเสาไฟเจ้า ปัญหาไปไว้ใกล้ๆ กับที่ดินของตนอีก เสมือนหนึ่งว่าเสาไฟต้นนี้ได้กลายเป็นจำเลยไปโดยปริยาย ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับประโยชน์ในการใช้ไฟฟ้าจากเสาไฟต้นดังกล่าว เรามาดูรายละเอียดของคดีกันเลยครับ…

 

 

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัยมากว่า 30 ปี อยู่ดีๆ ... การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ ก็ได้ย้ายเสาไฟที่เคยติดตั้งอยู่หน้าตึกแถวข้างเคียงซึ่งมีนายโสเป็นเจ้าของ มาติดตั้งอยู่ใกล้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีแทน เพราะภรรยาของนายโสได้ไปร้องเรียนกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ ว่าเสาไฟต้นดังกล่าวบดบังหน้าตึกแถวของตนและกีดขวางทางเข้าออกด้วย

 

ย้ายเสาไฟในที่สาธารณะ... ไม่กีดขวางทางเข้า-ออก ไม่ละเมิด!

 

ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการย้ายเสาไฟฟ้าหน้าตึกแถวดังกล่าวไปติดตั้งไว้ในจุดกึ่งกลางระหว่างที่ดินของตนกับที่ดินของนาย โส ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าจุดติดตั้งใหม่นั้นมีลักษณะค่อนไปทางที่ดินของตนและบดบังหน้าบ้านด้วย จึงนำปัญหานี้ไปร้องเรียนต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯซึ่งได้มีการไกล่เกลี่ยกับนายโสหลายครั้ง ก็ยังตกลงกันไม่ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ย้ายเสาไฟฟ้าออกไปจากบริเวณที่พิพาทเพื่อไม่ให้บดบังหน้าที่ดินของตน 

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ การย้ายจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าต้นดังกล่าวถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ? และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ(ผู้ถูกฟ้องคดี) ต้องย้ายเสาไฟฟ้าต้นพิพาทหรือไม่ ?

 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาแผนผังและภาพถ่ายแสดงจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าเดิมกับจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าใหม่ รวมทั้งภาพถ่ายแสดงหลักหมุดแบ่งเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีกับนายโส และที่ดินสาธารณประโยชน์ที่รังวัด ตลอดจนภาพถ่ายบริเวณด้านหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีและด้านหน้าตึกแถวของนาย โส เห็นได้ว่า บริเวณจุดติดตั้งเดิมนั้นกีดขวางทางเข้าออกตึกแถวของนายโสจริง การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ ดำเนินการย้ายเสาไฟฟ้ามาติดตั้งยังจุดใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเดิมประมาณ 4 เมตร โดยจุดติดตั้งใหม่ยังอยู่ในแนวปักเสาพาดสายระบบจำหน่ายไฟฟ้าเดิมที่อยู่ในเขตทางสาธารณประโยชน์และอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลและระยะที่ติดตั้งเสาไฟฟ้าใหม่อยู่ห่างจากหลักหมุดแบ่งเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีและนายโสประมาณ 1 เมตร ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็ได้ยอมรับว่า เสาไฟฟ้าพิพาทมิได้ปักลงในที่ดินของตน แต่อยู่ในที่สาธารณะ กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ ได้ย้ายจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

ประกอบกับในการกำหนดจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าใหม่นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังเมนชายคาให้กับบ้านของผู้ฟ้องคดีและตึกแถวของนายโส รวมทั้งผู้อยู่อาศัยข้างเคียงด้วย เมื่อจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าจุดใหม่อยู่ในเขตทางสาธารณะ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่กีดขวางทางเข้าออกของทั้งสองฝ่ายและไม่กระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าให้แก่ชุมชน จึงถือว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ ได้กระทำการย้ายจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าโดยถูกต้องตามระเบียบ คำสั่ง มาตรฐานทางวิศวกรรม กับทั้งได้ใช้ความระมัดระวังโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีแต่ประการใด  ดังนั้น การย้ายจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าที่พิพาทจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและไม่จำต้องย้ายเสาไฟต้นดังกล่าว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 323/2564)

 

คดีข้างต้น... ศาลได้วินิจฉัยให้เห็นว่าการใช้ดุลพินิจในการกำหนดตำแหน่งหรือจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ นั้น ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนแล้ว โดยได้ชั่งนํ้าหนักระหว่างความเสียหายของเอกชนกับประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับว่าสมดุลกันหรือไม่กล่าวคือ เสาไฟฟ้าต้นดังกล่าวได้ใช้ประโยชน์ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจุดติดตั้งเสาไฟฟ้าเดิมกระทบทางเข้าออกของเจ้าของตึกแถวโดยตรง แต่จุดติดตั้งเสาไฟฟ้าในตำแหน่งใหม่นี้ไม่ได้กระทบทางเข้าออกอาคารของผู้ใดเลย ซึ่งทางเข้าออกอาคารถือเป็นสาระสำคัญในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อย่างไรก็ตาม เจ้าของที่ดินอาจจำเป็นต้องรับภาระบางอย่างที่กระทบต่อสิทธิในการใช้สอยอาคารหรือที่ดินของตนอยู่บ้าง เช่น ขาดความสะดวกในการใช้สอยหรือรบกวนทัศนวิสัยบริเวณของอาคาร แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินจนเกินสมควร เช่นกีดขวางทางเข้าออกของอาคาร ซึ่งอย่างนี้ถือว่าเกินสมควรครับ! 

 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)