หุ้นขุดเหรียญ...ได้ไม่คุ้มเสีย

31 พ.ค. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ถ้าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่จบ เราจะได้เห็นราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นไปแตะ 180-200 เหรียญสหรัฐ/บาเรล ในช่วงปลายปี ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นไปถึงจุดนั้นได้ ก็หมายความว่าราคาหุ้นของ PTTEP มีโอกาสที่จะถูกดันขึ้นไปเหนือระดับราคาสูงที่สุดที่เคยทำเอาไว้ (222.00 บาท) ได้เช่นกัน 
 

โดยส่วนตัวของเจ๊เมาธ์มองว่าราคาหุ้นของ PTTEP มีสิทธิ์ที่จะถูกดันราคาขึ้นไปได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสงครามตัวแทนนี้ มีผู้เล่นนอกวงเข้ามามีส่วนร่วมด้วยมากเกินไปน่าจะจบได้ยาก ส่วนที่สองคือ ผลงานปัจจุบันยังไม่สะท้อนราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงการถูกตัดขาดทุนจากค่าประกันความเสี่ยงที่สูงถึง 240 ล้านเหรียญสหรัฐ 

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่กำไรของ PTTEP ในงวด 2/65 จะดีขึ้นมากกว่านี้ ดังนั้นเจ๊เมาธ์จึงยังแนะนำว่าควรมีหุ้น PTTEP ติดพอร์ตเอาไว้...แนะนำเหมือนตอนที่ราคาหุ้นของ PTTEP ยังมีราคาต่ำกว่า 100 บาทเช่นเดิมเจ้าค่ะ


*** ก่อนปรับราคาขึ้นมาในรอบนี้ ราคาหุ้น THG (รพ.ธนบุรี) เคยขึ้นไปสูงสุด  99.50 บาท ก่อนจะถูกตบลงมาเกือบ 50% (53.50 บาท) ซึ่งหากถามว่าสตอรี่ดีแค่ไหน ก็ตอบได้ว่าดีแน่ แต่ถ้าจะถามว่าผลการดำเนินงานในอนาคตจะดีได้เหมือนเดิมหรือเปล่า ...เรื่องนี้อาจจะต้องคิดให้มาก อย่างหนึ่งเป็นเพราะผลการดำเนินงานที่มาจากโควิด-19 ซึ่งเคยทำให้ทั้งรายได้และกำไรของ THG โตขึ้นมาแบบก้าวกระโดดกำลังหายไป 

ส่วนที่สองคือ สตอรี่ดีๆ จำนวนมากของ THG ล้วนเกิดขึ้นด้วยเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งกว่าจะเห็นผลลัพธ์อาจต้องใช้เวลานาน ซึ่งไม่อาจจะเข้ามาชดเชยรายได้ในส่วนของโควิด-19 ที่หายไป ดังนั้น หากคิดจะลงทุนกับ THG ในช่วงนี้อาจจะต้องพิจารณาสักนิด อย่างน้อยที่สุดสำนักวิเคราะห์ที่ให้ราคาเป้าหมายของ THG เอาไว้สูงที่สุดอย่าง บล.ฟินันเซีย ก็ให้ราคาเป้าหมายเอาไว้ที่ 45 บาทเท่านั้นเอง
 

*** ความตกต่ำของตลาดเหรียญดิจิทัลในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ไม่ว่าจะเป็น JTS ZIGA UPA หรือ ECF ต่างก็เจอปัญหาในเรื่องเดียวกันนั่นก็คือ “ได้ขุด..แต่ไม่ได้ขาย” จากราคาบิทคอยน์ต่ำกว่าราคาคาดการณ์ ทำให้ขายไม่ได้และไม่สามารถเอามูลค่าเหรียญบิทคอยน์ที่มี เข้ามาเป็นรายรับของบริษัท สิ่งที่ทำได้มีแค่ การคิดต้นทุนค่าเครื่องขุด ค่าสถานที่ และหนักที่สุดก็คือ ต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งดูจะเป็นปัญหามากที่สุดเข้ามาเป็นรายจ่ายไปเรื่อย ๆ 
 

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงทุนไปแล้วมันก็คงจะถอยไม่ได้ ความคุ้มค่าจากการลงทุนในช่วงนี้ไม่ต้องเอามาคิดให้ปวดหัว เพราะว่าการ “ติดดอยเหรียญบิทคอยน์” มันก็ไม่ต่างจากการติดดอยหุ้น เพราะใช้ปรัชญาเดียวกันนั่นคือ “ไม่ขายก็ไม่ขาดทุน” ส่วนจะมีกำไรจริงหรือไม่ ก็คงต้องแล้วแต่ว่าตลาดเหรียญดิจิทัลจะฟื้นได้เมื่อไหร่ก็เท่านั้นเอง
  

อย่างที่ Proen เข้าไปลงทุนเหรียญบิทคับ หรือเหรียญ Kub ของ “ท็อป บิทคับ” ลงทุนไปแล้ว 73 ล้านบาท ด้วยการถือหุ้น Kub 250,000 เหรียญ ประมาณว่า “ท็อป-กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม” เจ้าของ Proen ที่เข้าไปวางระบบให้ บิทคับ เป็นเพื่อนกัน ก็เลยให้ช่วย “ถือ” หุ้นไว้ 1 ปี กำไรขายได้ทุกราคา ไม่มีระยะเวลา แต่ถ้าขาดทุน ยินดีชดเชยราคา...ถามเจ้าค่ะว่า แล้วเมื่อไร Proen ถึงถอนทุนได้ ถ้าราคาเหรียญ Kub ไม่ขึ้น หรือ ScbX ถอดใจ ไม่อาวดีกว่า 
 

*** BANPU เป็นหุ้นอีกหนึ่งตัวที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากราคาถ่านหินและราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ปรับสูงมากขึ้นทำให้รายได้และกำไรปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย แต่ปัญหาสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นของ BANPU ขยับไปไหนไม่ได้ส่วนหนึ่ง ก็เป็นเพราะจำนวนหุ้นจดทะเบียนที่มีอยู่ถึง 6.76 พันล้านหุ้น 


โดยจำนวนหุ้นที่ว่านี้มีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) จำนวนมากถึง 90.17% ซึ่งด้วยปัญหาการกระจายให้ออกไปเป็นจำนวนมากนี้ ทำให้ทุกครั้งที่ราคาหุ้นขยับขึ้นมา ก็มักจะมีแรงขายทำกำไรระยะสั้นสวนทางออกมาจนราคาหุ้นขยับไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่คิดมาก ถ้ามีเงินเหลือ...จังหวะนี้แบ่งส่วนหนึ่งไปเก็บหุ้น BANPU เอาไว้บ้างก็น่าจะดี ถึงราคาจะไปได้ไม่ไกล..แต่ก็เก็บกินปันผลได้เจ้าค่ะ 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,788 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565