Blockchain “ตัวช่วย” ส่งออกทุเรียนไทย

20 พ.ค. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ปัจจุบันการส่งออกผลไม้ของไทย กลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้สู่ประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งยังมีโอกาสขยายการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศอื่น ๆ 


โดยในปี 2564 การส่งออกผลไม้ไทยทำสถิติโตสูงสุดถึง 1.95 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นมาราว 189% คิดเป็น 2.85 ล้านตัน เฉพาะทุเรียนปีที่ผ่านมามีการส่งออกกว่า 1 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ประเทศคู่ค้า/ผู้นำเข้า ต่างมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงมีขั้นตอนในการขอใบอนุญาต/ใบรับรองต่าง ๆ ที่มากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของผลไม้ไทย ต่างได้รับผลกระทบจากนโยบาย Zero-COVID ของจีน ที่มีการตรวจตราอย่างเข้มงวด 
 

ดังนั้น การพัฒนาระบบมาตรฐานคุณภาพและระบบการตรวจสอบที่เชื่อมโยงกันทั้ง Supply Chain จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเร่งยกระดับการพัฒนาขึ้นมา

ผู้เข้าร่วมอบรม “กลุ่มมังกร” ในหลัก สูตรหลักสูตร วิทยาการเกษตร ระดับสูง (วกส.) : Agriculture & Cooperatives Executive Program รุ่น 1 หลักสูตรที่จัดขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทย ให้เป็นผู้นำในระดับนานาชาติ อย่างมีนวัตกรรมและยั่งยืน ที่ผมได้เข้าร่มอบรมด้วย ได้ทำการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบาย ในการบริหารจัดการระบบข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะทุเรียนไว้อย่างน่าสนใจ ว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องพิจารณานำระบบบล็อกเชน (Blockchain)” เข้ามาบริหารข้อมูลในการตรวจสอบและติดตามคุณภาพสินค้าการเกษตรและอาหารของไทยแล้ว
 

ผลการศึกษาพบว่า ระบบ Blockchain จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและตรวจสอบข้อมูลระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกร โรงคัดแยก ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก หน่วยงานออกใบรับรอง คือ กรมวิชาการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการนำเข้า-ส่งออก (กรมศุลกากร) ตลอดจนประเทศผู้นำเข้า
 

การเชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบ Blockchain จะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสาร โดยจากการศึกษา จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 75 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการตรวจสอบคุณภาพ จะเป็นการพัฒนาศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีมาตรฐานสากล ตรวจสอบได้ น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับ นำไปสู่การพัฒนาให้สินค้าเกษตรมีราคาที่ดีขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
  

กลุ่มมังกร ได้สรุปปัญหาและความท้าทายของระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ของการส่งออกทุเรียน ให้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานของ FAO-CODEX ซึ่งประเทศจีนมีข้อกำหนดสำหรับการนำเข้าว่า ต้องมีใบรับรองคุณภาพ 3 ด้าน  
 

1. ต้องมีใบรับรองว่าทุเรียนมาจากสวนที่ได้รับมาตรฐานการผลิตการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practices (GAP) สำหรับทุเรียน ตามเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดและเป็นที่ยอมรับของประเทศจีน
 

2. ต้องมีใบรับรองว่าทุเรียนนั้นมาจากโรงคัดแยกที่ได้มาตรฐานการแปรรูปที่ดี Good Manufacturing Practice (GMP) สำหรับทุเรียนส่งออก ตามเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดและเป็นที่ยอมรับของประเทศจีน
 

3. ต้องมีใบรับรองเรื่องสุขอนามัยพืชของทุเรียน Sanitary and Phyto-Sanitary (SPS) ที่ส่งออกจากประเทศไทย ตามเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดและเป็นที่ยอมรับของประเทศจีน
 

ทว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่การตรวจรับรองในขั้นตอนต่าง ๆ นั้น ต้องใช้บุคลากรเป็นจำนวนมากจึงจะตรวจสอบได้อย่างทั่วถึงตั้งแต่การรับคำขอ การตรวจสอบผู้ขอว่ามีคุณสมบัติถูกต้องหรือไม่ และดำเนินการอื่น ๆ เกี่ยวกับใบรับรองเหล่านี้ ราชการไม่สามารถขยายตัวรองรับได้ทัน
 

ข้อเสนอแนะทางนโยบายของกลุ่มมังกร คือต้องให้เอกชนที่มีความสามารถรับช่วงการทำงานในระบบการตรวจสอบคุณภาพการส่งออกทุเรียนให้เป็นระบบที่ถูกต้อง ไม่เป็นภาระกับภาครัฐ และให้บุคลากรของภาครัฐได้ทำหน้าที่ซึ่งสำคัญและจำเป็นกว่า คือ ควรนำระบบ Blockchain มาใช้ใน 3 ขั้นตอนหลักของการตรวจสอบ  
 

ขั้นที่ 1 วิเคราะห์และเสนอระบบบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบมาตรฐานด้านต่าง ๆ ผ่านการปรับใบรับรอง 3 ด้านในการดำเนินการตรวจสอบและส่งเอกสารข้อมูลของการตรวจสอบ ให้สามารถรวบรวมให้อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์และใช้ร่วมกัน ลดการยื่นและตรวจสอบซ้าซ้อน
 

พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลของระบบการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ สามารถใช้ข้อมูลการผลิต การตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง โดยเฉพาะเพื่อให้การผ่านด่านศุลกากรในประเทศผู้นาเข้า


 

ขั้นที่ 2 การใช้ระบบ Blockchain มาออกแบบ เพื่อจัดการบริหารข้อมูลเช่นนี้ จะใช้ระบบ Blockchain ซึ่งจะเชื่อมผู้เกี่ยวข้องในจุดต่าง ๆ ตั้งแต่ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล (เช่น สวน โรงคัดแยก การขนส่ง เป็นต้น) และกลุ่มผู้ใช้ข้อมูล เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ ด่านศุลกากร จนถึงปลายทางในต่างประเทศ เป็นต้น  ให้อยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน และเมื่อมีการนำส่งข้อมูล ๆ นั้นจะถูกส่งไปให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องตรวจซ้าว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและมาจากหน่วยตรวจสอบที่ถูกต้องหรือไม่
 

หากนำ Blockchain มาใช้จะทำให้การออกใบรับรองก็จะทำได้เร็วขึ้น เพราะมีความแน่นอนของข้อมูล เช่น ใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto-sanitary Certificate) ซึ่งต้องใช้ข้อมูลเฉพาะพื้นที่ และใช้เวลาในการนำส่งข้อมูลที่ถูกต้อง  
 

ตอนนี้ FAO สนับสนุนการใช้ระบบ Blockchain ในการบริหารจัดการข้อมูลเรื่องคุณภาพ เนื่องจากจะช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนในการตรวจสอบเอกสาร และมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งในอนาคต ประเทศต่าง ๆ ก็จะใช้ระบบ Blockchain มาเป็นเครื่องมือในการสอบทานย้อนกลับมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบย้อนหลังสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร
 

ขั้นที่ 3 การจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารระบบ Blockchain มาใช้ในการตรวจสอบมาตรฐานในหลายประเทศมีการใช้บริษัทเอกชนเป็นผู้รับช่วงการดำเนินการจากภาครัฐ โดยหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐใช้เวลาและทรัพยากรที่จำกัดในกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การเจรจากับต่างประเทศ การวางนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นต้น
 

รัฐบาลสามารถทำโครงการนี้เป็นธุรกิจ start-up และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ประโยชน์จากระบบ Blockchain ร่วมลงทุน โดยในขั้นแรก คือ การพิสูจน์ว่าความคิดเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลสาหรับการส่งออกทุเรียนด้วยระบบ Blockchain เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้ คุ้มค่าในการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่จะต้องลงไป (Proof of Concept: POC) เพื่อนำเสนอต่อผู้ที่สนใจ
 

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจาการนำระบบ Blockchain มาใช้ จะทำให้มีระบบข้อมูลการตรวจสอบมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ จะช่วยให้ลดเวลาในการทำขั้นตอนเอกสาร จากปัจจุบัน ดังนี้
 

1. การขอรับรอง GAP ของสวนทุเรียน ระยะเวลาลดลง จาก 5-6 เดือน เหลือ 3-4 เดือนจากจำนวนสวนทุเรียนที่ต้องยื่นใบสมัครใหม่และต่ออายุ จานวณ 10,000 รายต่อปี จะประหยัดค่าใช้จ่ายสวนละประมาณ 1,000 บาท คิดเป็นมูลค่าแค่ 10 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
 

2. การขอรับรอง GMP ของโรงคัดแยก ระยะเวลาลดลง จาก 4-5 เดือน เหลือ 3-4 เดือน จากจำนวนโรงคัดแยกทุเรียนทั้งที่สมัครใหม่และต่ออายุปีละประมาณ 1,000 ราย คิดเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายรายละ 5,000 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี
 

3. การขอใบรับรองอนามัยพืช Phyto-Sanitary Certificate ระยะเวลาลดลง จาก 2-3 วัน เหลือ 1-2 วัน จากจำนวน shipment ประมาณปีละ 30,000 shipment จะประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ 500 บาท คิดเป็นมูลค่า 15 ล้านบาทต่อปี
 

4. การผ่านพิธีการศุลกากรขาออก ระยะเวลาลดลง จาก 1 วันเหลือ ครึ่งวัน จากจำนวน shipment ประมาณ 30,000 ครั้ง จะประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ 500 บาท คิดเป็นมูลค่า 15 ล้านบาทต่อปี
 

5. การผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้า (ในประเทศจีน) ระยะเวลาลดลง จาก 2-3 วัน เหลือ 1-2 วัน จากจำนวน shipment ประมาณ 30,000 ครั้ง จะประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ 1,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาทต่อปี
 

รวมแล้วคิดเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 75 ล้านบาทต่อปี โดยหากมีผู้มาใช้บริการเพียงร้อยละ 50 จะคิดเป็นมูลค่า 37.5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนต่อปีของประเทศไทย
 

ข้อเสนอดีๆ แบบนี้ ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาอย่างยิ่ง หากต้องการให้ผลไม้ไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และทำให้คุณภาพการผลิต รายได้เกษตรกรไทยดีขึ้น!