LUNA เป็นเหตุเสียหายยับ

17 พ.ค. 2565 | 22:40 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By...เจ๊เมาธ์

*** ตลาดคริปโต วายแล้วหรือยัง เป็นคำถามที่นักลงทุนรุ่นใหม่ วัยคะนอง ไม่ต้องการหาคำตอบ เพราะยังเชื่อมั่นโลกการลงทุนสมัยใหม่ ที่สร้างเงินได้จำนวนมากในเวลารวดเร็ว  แต่เวลานี้ ราคาเหรียญอย่าง LUNA สัญชาติเกาหลี หาค่าไม่ได้ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล นักลงทุนเหรียญปลิดชีพหลายสิบคน และอีกหลายๆ คนหมดตัว หนี้สินโถมเข้ามาหาตัวอย่างรวดเร็ว...เหรียญลูน่า เป็นเหตุแห่งความหายนะมาเยือน บริษัทจดทะเบียนไทย ที่มุ่งหน้าขุดเหรียญ เป็นอินเทรนด์ยุคนี้  


*** ผลการดำเนินงานของ JTS ในไตรมาส 1/65 ระบุว่า บริษัทมีกำไร 96.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 840.27% จากงวดเดียวกันปีที่แล้ว โดยรายได้ที่ว่านี้มาจากธุรกิจออกแบบและวางระบบสื่อสารและบริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ขณะที่ในส่วนของธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ ซึ่งนักลงทุนให้ความสนใจพบว่า บริษัทมีเหรียญบิทคอยน์ที่ได้จากการขุดรวมเป็นจำนวน 18.61 เหรียญบิทคอยน์ คิดเป็นเงินราวๆ 25.23 ล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนการขุดอยู่ที่ 29 ล้านบาท

แน่นอนว่าถ้าราคาซื้อขายบิทคอยน์อยู่ในราคาเดียวกันกับในตอนที่บริษัทวางแผนในการทำธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ (5-6 หมื่นดอลลาร์/บิทคอยน์) ตัวเลขที่ออกมาก็จะเป็นบวก ไม่ติดลบแต่อย่างใด แต่สำหรับระดับราคาปัจจุบันที่ 3 หมื่นดอลลาร์/บิทคอยน์ กลับพบว่า บริษัทขาดทุนอยู่ที่ 4 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากจะใช้ทฤษฎีเรื่องการ “ไม่ขายก็ไม่ขาดทุน” มาใช้ด้วยการเก็บบิทคอยน์ที่ได้เอาไว้รอขายเมื่อราคาสูงขึ้นก็อาจจะทำได้ แต่ในโลกนี้ใครจะสามารถการันตีได้ว่า ราคาบิทคอยน์จะกลับไปอยู่ที่ 5-6 หมื่นดอลลาร์/บิทคอยน์ หรือ สูงกว่านี้ได้อีกครั้ง ขณะเดียวกันถ้าหากราคาบิทคอยน์ยังอยู่ที่ 3 หมื่นดอลลาร์/บิทคอยน์ ความฝันที่ JTS จะมีเครื่องขุดจำนวน 3,525 เครื่องในปลายปีนี้ (ปัจจุบันมีอยู่ 525 เครื่อง) จะกลายเป็นฝันร้ายทันที เพราะมีน้อยก็ลงทุนน้อย...ขาดทุนน้อย และ“มีมากก็ลงทุนมาก...ขาดทุนมาก” 


ดังนั้น ถ้าหากแนวโน้มราคาบิทคอยน์ยังคงเป็นแบบนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ทาง JTS อาจจะต้องทบทวนว่า ธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ควรจะดำเนินการต่อหรือไม่ ซึ่งถ้าคำตอบคือไม่...ก็หมายความว่าจุดขายของ JTS หายไปทันที และถ้าไม่มีจุดขายแล้วราคาหุ้นของ JTS จะเป็นอย่างไรต่อไปอีก เรื่องนี้น่าติดตามตอนต่อไปจริงๆ 

*** ดูทรงแล้วผลการดำเนินงาน 1/65 อาจจะทำให้ราคาหุ้น ZIGA ของเสี่ยหนุ่ย “ศุภกิจ งามจิตรเจริญ” อาจจะต้องอยู่ในช่วงของพักฐานราคาไปอีกสักระยะหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็มาจากสาเหตุเรื่องบิทคอยน์ที่ขุดออกมาแล้วยังขายไม่ได้ เพราะราคาต่ำกว่าต้นทุน เช่นเดียวกับ JTS แต่อีกส่วนก็มาจากผลการดำเนินงาน 1/65 ซึ่งอาจจะยังไม่ดีอย่างที่คิดกันเอาไว้เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ค่าเงินบาท รวมถึงการล็อกดาวน์ที่ประเทศจีน ทำให้ต้นทุนของสินค้า (เหล็ก) ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาด 


แต่ในระยะยาวผลการดำเนินงานของ ZIGA อาจจะสามารถเข้าที่ปกติได้ไม่ยากนัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของ ZIGA เป็นสินค้าที่มีแข่งขันต่ำแต่มีความต้องการสูง ดังนั้นถ้าใครชอบก็อาจจะต้องหาจังหวะตั้งรับที่ราคาต่ำกว่านี้ เพราะเชื่อเถอะว่าไม่ว่ามดที่ไหน ลองถ้าได้ชิมขนมหวานแล้วสักครั้ง...มดตัวนั้นมันก็ต้องหาทางกลับมากินขนมนั้นอีกแน่นอน เช่นกัน...เมื่อราคาหุ้น ZIGA เคยขยับขึ้นไปยืนที่เลข 2 หลักได้แล้ว อีกไม่นานก็จะถูกดันกลับไปอีกครั้งอยู่ดี เพราะเจ้ามือ เอ๊ยย...มดมันชอบเจ้าค่ะ  
 

*** ราคาหุ้นของ AOT แทบจะไม่ปรับตัวลงไปเลย ทั้งที่ผลการดำเนินงาน 2/65 ออกมาขาดทุน -3,276 ล้านบาท ทำให้รวมแล้วครึ่งปีแรกขาดทุนรวมถึง -7,548 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ราคาหุ้นของ AOT ไม่มีการปรับขึ้น หรือ ลง ก็เป็นเพราะว่านักลงทุน ต่างก็รับรู้แล้วว่าตราบใดที่การล็อกดาวน์ โดยมีสาเหตุที่มาจากโควิดยังไม่หายไป รายได้และกำไรของ AOT ก็ยังจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป และเนื่องจากการที่ AOT เป็นบริษัทผูกขาด (Monopoly) ในการเก็บค่าต๋งในการผ่านเข้าประเทศในแบบที่ไม่ต้องไปแข่งกับใคร ก็เป็นเหตุให้นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นว่า ถ้าทุกอย่างกลับคืนที่เดิมก็จะทำให้รายได้และกำไรของ AOT กลับเข้าสู่ที่เดิมด้วยเช่นกัน
 

อย่างไรก็ตาม การวางเงินไว้กับหุ้นอย่าง AOT แม้ว่าจะดูปลอดภัย แต่หากมองในแง่ของการลงทุน ก็จะพบว่านี่เป็นหนึ่งในการเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าจากการลงทุน จังหวะนี้มีหุ้นดีราคาถูกจำนวนมากที่รอให้นักลงทุนเข้าไปช้อนเก็บเอาไว้ บางครั้งเชฟโซน มันก็เป็นตัวถ่วง และเป็นกับดักได้เช่นกันเจ้าค่ะ


*** ถึงแม้ว่ากำไร 1/65 ของ CBG ปรับลดลงมาเพียงแค่ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่นักวิเคราะห์มองว่า กำไรในอนาคตของ CBG อาจจะนิ่ง... หรือแย่ลงไปอีก เพราะไม่ยอมปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนของวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น โดยในส่วนของอัตรากำไรขั้นต้นที่เหลือเพียง 30.7% ลดลงมาจาก 31.4% ที่เคยเป็น หมายความว่าถ้าจะให้มีกำไรที่มากเท่าเดิม CBG จำเป็นที่จะต้องสร้างยอดขายให้มากกว่าที่เคยทำใด้ แต่ถ้ามองในอีกมุมก็จะพบว่า การที่ไม่ปรับขึ้นราคาขายเป็นการเปิดสงครามราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับทางคู่แข่งในอีกช่องทาง เพราะอย่างน้อยการดึงส่วนแบ่งทางการตลาดด้วย “การไม่ขึ้นราคาอาจจะดีกว่าการลดราคา” ก็เป็นไปได้ ส่วนจะจริงหรือไม่แค่ไหน....อีกไม่นานก็จะได้รู้กัน 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,784 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565