จาก Platform Economy สู่ Ownership Economy?

06 เม.ย. 2565 | 03:25 น.

จาก Platform Economy สู่ Ownership Economy? : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,772 หน้า 5 วันที่ 7 - 9 เมษายน 2565

ยุคของ Platform Economy

 

ตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Platform Economy โดยธุรกิจแบบ Platform มีความลักษณะเฉพาะตรงที่ Platform จะอยู่ได้หรือน่าใช้งานไหมจะขึ้นกับจำนวน Users และ Engagement ของ Users บน Platform นั้นๆ

 

เช่น Platform ประเภท E-Commerce (Shopee, Lazada, etc.) จะน่าใช้ก็ต่อเมื่อมีคนซื้อและคนขายมาใช้เวลาอยู่บน Platform นั้นเยอะ ๆ หรือ Platform ประเภท Social Media (Facebook, Instagram, Twitter, Tik Tok, etc.) จะน่าใช้ก็ต่อเมื่อเพื่อนๆ ของเราก็มาใช้เวลาอยู่บน Platform นั้นเยอะๆ เช่นกัน โดย Concept นี้เรียกว่า Network Effects

 

 

 

 

 

โดยรูปแบบของ Platform Economy มักมีเจ้าของ Platform เป็น Tech Company ใหญ่ๆ ซึ่งก็จะพยายามหาวิธีการดึง Users เข้ามาเยอะๆ และมาใช้เวลาอยู่บน Platform ของตัวเองเยอะๆ

 

วิธีหนึ่งที่ใช้คือ การสังเกตพฤติกรรมของ Users โดยการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้าเมื่อ Users ใช้เวลาอยู่บน Platform นั้นๆ ว่า Users ชอบอะไรไม่ชอบอะไร อย่างไรก็ดีระยะ หลังๆ ข้อมูลของ Users นี้เริ่มมีเยอะขึ้นและมีค่ามากขึ้น เจ้าของ Platform จึงมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ด้วย เช่น การขายโฆษณา (Targeted Advertising) 

 

 

 

นอกจากนี้ประเด็นที่ Platform ถูกโจมตีบ่อยอีกเรื่อง คือเรื่องของ Censorship เนื่องจากข้อมูลที่ Users สร้างขึ้น (เช่น Post หรือ VDO ต่างๆ) นั้น เก็บอยู่บน Platform เจ้าของ Platform สามารถลบข้อมูลที่ตนคิดว่าไม่เหมาะสมออกได้ (ซึ่งจริงๆ ผู้เขียนมองว่าไม่ได้เป็นข้อเสียเสมอไป เนื่องจาก Contents ที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง ก็อาจสมควรถูกลบออกไป แต่ว่าบางคนมองว่า Platform สามารถเลือกปฏิบัติโดยลบ Contents ที่ตัวเองไม่ชอบออกไปได้ เช่น Contents ที่สนับสนุนฝั่งตรงข้าม)

 

Ownership Economy คืออะไร?

 

จากประเด็นข้างต้น ที่ Platform Economy ถูกโจมตี (ในเรื่องของการใช้ประโยชน์ของข้อมูล Users กับเรื่อง Censorship) จึงเริ่มมีแนวคิดที่ว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างรูปแบบระบบเศรษฐกิจที่ Users เป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง หรือที่เรียกว่า Ownership Economy เช่น จะเป็นไปได้ไหมที่ หาก Users สร้าง Contents อะไรขึ้นมา (เช่น Post หรือ VDO ต่างๆหรือแม้แต่ Browsing Activities) Contents เหล่านั้นจะถูกเก็บอยู่ใน “กระเป๋าสตางค์” ของ Users  

 

จาก Platform Economy สู่ Ownership Economy?

 

เมื่อ Users เดินทางไปที่ Platform ไหน Users ก็สามารถเปิดกระเป๋าของตัวเองออกมา แล้วเอา Contents ของตัวเองออกมานำเสนอหรือใช้งาน และหากวันไหนไม่พอใจ Platform นั้น ก็หอบกระเป๋า (ที่มี Contents ของตัวเองอยู่ข้างใน) แล้วย้ายไปอยู่ที่ Platform อื่น โดยเจ้าของ Platform ไม่สามารถเก็บ Contents เหล่านั้นไว้ได้, ไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก Contents เหล่านั้น, และไม่มีอำนาจในการลบ Contents เหล่านั้นด้วย 

 

ส่วนตัว Users จะสามารถใช้ประโยชน์จาก Contents เหล่านั้นได้ เช่น Users สามารถได้รับ Tokens หากมีใครมาดู VDO ที่ตนสร้างขึ้น หรือหาก Users จะต้องดูโฆษณาก็อาจจะได้รับ Tokens เป็นการตอบแทน

 

Web 3.0 กับ Ownership Economy

 

ผู้ที่สนับสนุนหลักการของ Ownership Economy บอกว่ามันจะสามารถถูกสร้างได้ด้วยเทคโนโลยี Web 3.0 ซึ่งเป็น Third Generation ของ Internet ต่อจากยุค Web 1.0 และ Web 2.0

 

Web 1.0 หรือที่เรียกว่า The Information Economy คือยุคที่ Web Pages ถูกสร้างขึ้นมาแบบ Read-Only โดย Users สามารถอ่านข้อมูลจาก Web Pages ต่างๆ แต่ไม่สามารถเขียนหรือแก้ไขข้อมูลนั้นได้

 

Web 2.0 หรือที่เรียกว่า The Platform Economy คือยุคที่ Web Platforms มีลักษณะเป็น Read-and-Write คือ Users สามารถอ่าน Contents จาก Platforms และสามารถเขียน Contents กลับไปบน Platforms ได้ด้วย เช่น Facebook, YouTube, Twitter, etc.

 

ส่วน Web 3.0 หรือที่เรียกว่า The Ownership Economy มีลักษณะเป็น Read-Write-Own คือ Users สามารถอ่าน Contents ที่มีอยู่ สร้าง Contents ขึ้นมาเอง และเป็นเจ้าของ Contents ขึ้นมาได้ โดย ผู้ที่สนับสนุนหลักการนี้บอกว่า Blockchain จะสามารถทำให้ Ownership Economy แบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาได้

 

Ownership Economy จะเกิดขึ้นได้จริงไหม?

 

แม้แนวคิดในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ ผู้เขียนมองว่าตอนนี้ยังเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้น และปัจจุบันยังไม่เห็น Use Case ที่เห็นประโยชน์ชัดเจนแบบจำเป็นต้องใช้ หรือใช้กันแพร่หลาย ผู้เขียนจึงมองว่า Ownership Economy อาจขึ้นได้ (และเป็น Solution ให้กับปัญหาบางอย่าง) แต่คงจะไม่ได้มาแทนที่ Platform Economy ได้ทั้งหมด

 

โดย Ownership Economy กับ Platform Economy น่าจะ Co-exist แต่ Ownership Economy จะใหญ่โตแค่ไหนและจะมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้แค่ไหนในอนาคต ณ วันนี้คงเร็วเกินไปที่จะประเมินได้ คงยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

ประเด็นเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Ownership Economy

 

หาก Ownership Economy เกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่น่าจับตามองคือการเปลี่ยนมือของ Economic Power จาก เจ้าของ Platform ใหญ่ๆ ที่เป็น Tech Companies มาสู่ Users กลายเป็นว่า Tech Companies จะเข้าถึงหรือมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของ Users ได้น้อยลง และ Users สามารถมีโอกาสหารายได้จากข้อมูลหรือ Contents ของตัวเองได้มากขึ้น 

 

นอกจากนี้ Web 3.0 ยังก่อให้เกิด Business Model รูปแบบใหม่ ๆ เช่น GameFi, Blockchain-based Metaverse, etc.

 

อย่างไรก็ดี Ownership Economy นี้คงทำให้เกิดความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ขึ้นมา เช่นกัน เช่น ความผันผวนของราคา Token, ความเสี่ยงของ Business Model แบบใหม่ ๆ ที่อาจยังไม่ชัดเจน, การฉวยโอกาสจากการที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและการที่ยังไม่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน, การโจมตีทางไซเบอร์, etc. ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่น่าจับตาดูและนำมาถกพูดคุยกันต่อไป