Metaverse Economics

19 ม.ค. 2565 | 08:05 น.

Metaverse Economics : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,750 หน้า 5 วันที่ 20 - 22 มกราคม 2565

 

งานปีใหม่ในโลก Metaverse

 

ช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเดินเล่นใน Metaverse ที่โด่งดัง 2 แห่ง คือ Decentraland กับ Sandbox โดยทั้ง 2 ที่มีกิจกรรมมากมาย ในส่วนของ Sandbox ส่วนมากยังเป็นเกมส์ ในส่วนของ Decentraland ก็เริ่มมี Event ต่างๆ (รวมถึงงาน Party ปีใหม่ ที่ผู้เขียนได้ไปร่วมมาด้วย) เลยอยากเอาประสบการณ์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ มาชวนตั้งคำถามทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับ Metaverse ที่น่าชวนคิดมาคุยกัน

 

 

Metaverse Economics

 

 

ที่ดินราคาแพงใน Metaverse

 

ที่ผ่านมาข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Metaverse ทั้ง 2 แห่งนี้ หนีไม่พ้นเรื่องของการซื้อขายที่ดินที่มีราคาแพง โดยล่าสุดมีผู้ซื้อที่ดินที่ Decentraland ในราคา 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และที่ Sandbox ในราคา 450,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ อยากจะขออธิบายเพิ่มเติมสำหรับผู้อ่านที่ไม่คุ้นชินกับโลก Metaverse ว่าการซื้อขายที่ดิน ที่ว่านี่คือ Virtual Land (คือเป็นที่ดินในโลกเสมือน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้สามารถเชื่อมต่ออะไรกับที่ดินในโลกจริงได้)

 

โดยที่ดินที่ว่านี่มีคุณสมบัติเป็น NFT (Non-Fungible Token คือ เป็นสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว สามารถถูกสร้างขึ้นเพื่อแทนสิ่งของต่างๆ เช่น งานศิลปะ, รูปตุ๊กตา, การ์ดรูปภาพ, หรือ Virtual Land และสามารถถูกเก็บข้อมูลความเป็นเจ้าของไว้บน Blockchain ได้) จึงเป็นประเด็นที่น่าชวนมาถกคิดว่า เหตุใดที่ดินที่ไม่ใช่แม้แต่จะเป็นที่ดินในโลกจริง ถึงมีราคาแพงได้ขนาดนั้น

 

ที่ดินใน Metaverse มีไว้ทำอะไร

 

คล้ายๆ กับที่ดินจริง คนที่มีที่ดินใน Metaverse สามารถ “เปิดร้าน” ต่างๆ บนที่ดินของตัวเองใน Metaverse ได้ โดยร้านนั้นอาจจะเป็นร้านเกมส์, ร้านขายรูปภาพ (NFT Gallery), ร้าน Casino, หรือแม้แต่กระทั่งเปิดเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างๆ ได้ล่าสุดบริษัท Samsung เพิ่งได้ไปเปิดสำนักงานใหญ่ใน Decentraland, มีข่าวว่า PwC Hong Kong ได้ไปซื้อที่ดินใน Sandbox, ส่วนบริษัทไทย เช่น SCB 10X ก็ได้ประกาศว่าจะไปตั้งสำนักงานใหญ่ใน Sandbox เช่นกัน  

 

เปิดร้านแล้วได้อะไร? พวกร้านเกมส์อาจมีการเก็บเงินค่าเข้าไปเล่นเกมส์ พวกร้านขายรูปภาพก็อาจจะหวังว่าคนเดินผ่านมาอาจจะมาซื้อรูป ส่วนพวกสำนักงานต่างๆ ก็อาจต้องการมีพื้นที่ไว้จัดงาน Event หรือ Promote สินค้าต่างๆ รวมถึงอาจจะขายของด้วย

 

 

จริงๆ แล้วที่ดินใน Metaverse คือ “Platform”

 

หากพิจารณาดูดีๆ แล้ว จริงๆ แล้ว Metaverse ก็คือ Digital Platform นั่งเอง โดยปกติแล้วเจ้าของ Platform มักพยายามสร้าง Ecosystem ให้ดี จะได้มีผู้เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก เมื่อมีผู้คนเข้ามาใช้เวลาใช้เวลาใน Platform นั้นมากๆ ก็มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นที่จะสร้างรายได้จากผู้ที่เข้ามาใช้ (ขายของ, โฆษณา, etc.)

 

อย่างไรก็ดี ข้อต่างของ Metaverse (แบบที่มีขายที่ดิน) กับ Platform ทั่วไปคือ Metaverse อนุญาตให้ธุรกิจอื่น (ที่ไม่ใช่เจ้าของ Metaverse) มาเปิดร้านเพื่อทำธุรกิจสร้างรายได้จากผู้ที่เข้ามาใช้ได้ โดยธุรกิจนั้นๆ ต้องเข้ามา “ซื้อสิทธิ์” ในการเปิดร้านผ่านการซื้อที่ดินนั่นเอง โดย Metaverse แต่ละที่ก็แข่งขันกันในการสร้าง Ecosystem ให้ดี การมีร้านดีๆ น่าสนใจมาเปิดเยอะๆ ก็ทำให้มีผู้เข้ามาใช้เยอะขึ้น การมีผู้เข้ามาใช้เยอะขึ้นก็จะดึงคนอื่นๆ เข้ามาเยอะขึ้น ต่อไปอีก (Network Effect)

 

ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าชวนคิด

 

จริงๆ แล้วเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (Scarcity) ในกรณีของที่ดินในโลกจริงหรือทรัพยาการต่างๆ ในโลก จริง ความจำกัดนี้มีอยู่จริง อย่างไรก็ดีของต่างๆ ในโลกเสมือน สามารถถูกสร้างขึ้นมาใหม่ได้ โดยแทบจะไม่มีความจำกัดที่มีอยู่จริง Metaverse จะสร้างขึ้นมากี่เมืองก็ได้ ที่ดินจะสร้างให้ใหญ่แค่ไหนก็ได้ จึงเป็นประเด็นที่น่าคิดว่า ราคาที่ดินในโลกเสมือนจะยังคงมีราคาแพงได้อยู่ไปเรื่อยๆ ไหม

 

อย่างไรก็ดี แม้ปริมาณที่ดินในโลกเสมือนอาจจะไม่ได้มีความจำกัดจริงๆ แต่ความจำกัดอาจถูกสร้างขึ้นมาได้ (เช่นผู้สร้าง Metaverse เมืองหนึ่งอาจบอกว่า เมืองนี้จะมีขนาดเท่านี้เท่า นั้นจะไม่เพิ่มพื้นที่อีก) หรือที่ดินในเมืองดีๆ หรือในย่านดีๆอาจมีราคาแพงได้ (ผู้สร้างต้องพยายามสร้าง Ecosystem ให้ดีและพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีผู้เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก ธุรกิจยังสามารถสร้างรายได้จากผู้ใช้งานได้ ที่ดินก็คงจะมีคนอยากซื้อต่อไป) ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไป