“โอมิครอน”ไม่รุนแรง ตลาดแรงงานจะดีขึ้น?

05 มี.ค. 2565 | 01:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3763 ระหว่างวันที่ 6-9 มี.ค.2656 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย... 


*** สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับประเทศไทย ในแง่ของผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตยังคง “น่าห่วง” เพราะคงตัวอยู่ในระดับที่สูง ทั้งผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต โดยตัวเลข ณ วันที่ 2 มี.ค.2565 พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ จำนวน 22,197 ราย แยกเป็นผู้ป่วยภายในประเทศ 22,079 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 118 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จำนวน 711,109 ราย หายป่วยกลับบ้าน 19,093 ราย หายป่วยสะสม 524,245 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 218,784 ราย เสียชีวิต 45 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,323 คน (1 ม.ค.- 1 มี.ค.65) 

*** ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ ณ วันที่ 2 มี.ค.65  10 จังหวัดอันดับแรก ประกอบด้วย 1.กรุงเทพมหานคร 3,018 ราย 2.ชลบุรี 1,134 ราย 3.สมุทรปราการ 986 ราย 4.ภูเก็ต 688 ราย 5.นนทบุรี 682 ราย 6.สมุทรสาคร 678 ราย 7.นครศรีธรรมราช 632 ราย 8.นครราชสีมา 609 ราย 9.ราชบุรี 591 ราย และ 10.บุรีรัมย์ 503 ราย …อันดับ 1-3 เป็นจังหวัดที่ “น่ากังวล” เพราะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงติดต่อกันมาหลายวันต่อเนื่อง ยังไม่มีทีท่าจะลดลงแต่อย่างใด 


*** แม้การแพร่ระบาดของโควิด-จะทำให้ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน แต่ส่วนใหญ่กว่า 97-98% เป็นสายพันธุ์ “โอมิครอน” และเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว  มีเพียง 1-2%  ที่เป็นผู้ป่วยสีเหลืองแดง เมื่อเทียบกับรอบสายพันธุ์ “เดลตา” ที่มีผู้ป่วยเหลืองกว่า 15 % แดง 5 % ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพิ่มระบบการดูแลแบบ “ผู้ป่วยนอก” ด้วยแนวทาง “เจอ แจก จบ” นั่นคือผู้ที่สงสัยติดโควิด-19 เมื่อตรวจ ATK แล้วหากพบผลเป็นบวก (เจอ) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร (แจก) ได้แก่ 1.ยาฟ้าทะลายโจร 2.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก 3.ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง (จบ)

*** นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. บอกว่า ขณะนี้พยายามวางแผนที่จะจัดการให้ “โควิด-19” เป็น “โรคประจำถิ่น” โดยดูเรื่องความรุนแรง ศักยภาพภูมิต้านทานของคน และกระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลักวิชาการพบว่า “โอมิครอน” ความแรงต่ำมาก 95% ขึ้นไปไม่มีอาการ หรือ อาการน้อย ที่เคยเป็นห่วงว่าช่วงสายพันธุ์อัลฟา หรือ เดลตา อาการสีเขียวแล้วจะกลายเป็นเหลืองนั้น ใน “โอมิครอน” กรมการแพทย์จะสรุปตัวเลขอีกครั้งว่า โอกาสที่อาการจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์จะทำให้ประชาชนสบายใจขึ้น 


แต่ที่ปรากฏไม่ถึง 1 % คือ ใน 100 คน ที่อาการเป็น “สีเขียว” แล้ว จะกลายเป็น “สีเหลือง” ภายหลังน้อยกว่า 1 % และแม้จะมีอาการเพิ่มขึ้น ก็สามารถติดต่อกลับมาปรึกษาและเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ เพราะมีการลงทะเบียนแล้ว ...สมัยก่อนเราไม่รู้ รู้จักโรคน้อยและโรคมีความรุนแรงจริงๆ ทำให้ต้องรับผู้ที่ติดเชื้อ ไม่มีอาการเข้ามาอยู่ รพ. 14 วันในช่วงแรก ส่วนระยะหลังก็ลดเหลือ 10 วัน แต่ตอนนี้ช่วง “โอมิครอน” สามารถเพิ่มทางเลือกดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ซึ่งการรักษาทั้งหมดผู้ติดเชื้อไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด


*** หันไปดูผลกระทบจาก “พิษโควิด-19” ล่าสุดเมื่วันที่ 28 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ โดย จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการฯ ออกมาให้ข้อมูลถึงสถานการณ์การ “ว่างงาน”  ในไตรมาส 4 ของปี 2564 อยู่ที่ 1.64% เป็นการว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือ ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3 แสนคน โดย “แรงงานใหม่” ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยังว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% โดยเฉพาะ “เด็กจบใหม่” ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีสัดส่วนถึง 49.3% ของผู้ว่างงานทั้งหมด


*** ตัวเลขการว่างงานนักศึกษาจบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดแพร่ระบาด โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบการศึกษาในสาขาด้านสังคมศาสตร์ ธุรกิจ การบริหาร และ พาณิชย์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า ทุกระดับการศึกษามีอัตราการว่างงานลดลง แต่กลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ยังมีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 3.22%


*** ส่วนสถานการณ์แรงงานปี 2564 การจ้างงานมีจำนวน 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.2% โดยเพิ่มจากภาคเกษตรกรรม 1.8 % จากการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาทำงานในสาขานี้ ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรม การจ้างงานลดลง 0.6% ซึ่งเป็นการลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้น “สาขาขนส่ง” ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.7% โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิด มีการจ้างงานลดลง 3.1% เช่นเดียวกับ “สาขาการศึกษา” ที่การจ้างงานปรับตัวลดลง 6.5%


*** ขณะที่แนวโน้ม “ตลาดแรงงานปี 2565” คาดว่าสถานการณ์ด้านแรงงานจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโควิด “โอมิครอน” ไม่รุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อได้ แต่มีสิ่งที่ต้องติดตาม คือ 1.การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการระบาด โดยต้องเน้นให้เกิดมาตรการทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่มเอสเอ็มอี 2.การขยายตัวของแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น จะต้องออกมาตรการจูงใจให้คนกลุ่มนี้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบ 


3.ภาระค่าครองชีพของประชาชน ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564 ส่งผลทำให้แรงงานมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น และ 4.การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะ และการปรับเปลี่ยนทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษา และผู้ว่างงานระยะยาวยังมีอัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง …ทั้งหมดถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล ผู้บริหารประทศ ที่จะต้องขับเคลื่อนทำให้ประชาชนมีงานทำ เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้...  


*** ไปปิดท้ายกันที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ขอเชิญชวนร่วมบริจาคและสมทบทุนจัดทำถุงยังชีพ จัดตั้งโรงครัว เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา กระแสรายวัน เลขที่บัญชี 114-0-06877-9 ทุกการบริจาคของท่านสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า โดยส่งหลักฐานการบริจาคพร้อมชื่อ-นามสกุล ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ ผ่านช่องทาง e-mail : [email protected] ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โทร. 0-2054-6546