ไม่ทำหน้าที่ ขาดความรับผิดชอบ ส่งอำนาจคืนประชาชน

09 ก.พ. 2565 | 07:46 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์สภาล่มซ้ำซาก สะท้อนการทำหน้าที่ของส.ส.อันได้ชื่อเป็นผู้ทรงเกียรติในสภาผู้แทนราษฎร จะกระทำด้วยเหตุจงใจหรือไม่เจตนาก็ตาม แต่การทำงาน การบริหารประเทศ การออกกฎหมาย ก็ไม่สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนไปได้ กระทบกับประชาชน ในการทำธุรกิจ ในการดำเนินชีวิต กฎหมายที่ออกบังคับใช้ล่าช้าวันเดียวมีผลกระทบมากมายมหาศาล ซึ่งสภาฯ ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่มซ้ำซากมาหลายครั้งแล้ว
 

การทำหน้าที่ของส.ส.ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน แต่กลับเอารัดเอาเปรียบประชาชน ทั้งที่กลุ่มคนที่เป็นผู้แทนเหล่านี้ แล้วไม่ทำหน้าที่ แต่ในทางกลับกัน ประชาชนต้องจ่ายภาษีเป็นค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มคนพวกนี้ 4 ล้านบาทต่อวัน รวมๆ กันโดยเฉลี่ย คิดต่อเดือน ต่อปี ก็ถือเป็นจำนวนไม่น้อย ในการสูญเสียงบประมาณ โดยเม็ดงาน เนื้องานไม่ก้าวหน้า
 

อย่างไรก็ดี การล่มหรือการไม่สามารถทำงานให้ลุล่วงก้าวหน้าไปได้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสภาผู้แทน หรือ ส.ส. แต่กลับลามไปที่คณะรัฐมนตรี หลังจากมีการบอยคอต หรือ พร้อมใจกันลาประชุมของกลุ่มรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล 7 คน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี กรณีไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว ทำให้โครงการไม่สามารถพิจารณาได้ ต้องถอนวาระออกจากการประชุมไป
 

การบอยคอตครม.อันนี้สะท้อนถึงการไม่ทำหน้าที่ของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศเช่นเดียวกัน สะท้อนความรับผิดชอบในบาทหน้าที่ของผู้ที่เป็นรัฐมนตรี ผู้บริหารประเทศ ที่ถ้าไม่เห็นด้วยกับวาระการพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด ต้องคัดค้าน แสดงออกโดยเปิดเผย แถลงเหตุผลการคัดค้านให้ประชาชนได้รับทราบ หรือการถอนตัว การลาออกไปจากการร่วมรัฐบาล จะเป็นแนวทางที่มีเหตุผลและเหมาะสมมากกว่า การบอยคอตที่ทำให้งานสะดุด

อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ทั้งสภาล่มและการบอยคอตการประชุมครม.ของรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่ง เกิดขึ้นซ้ำบ่อยครั้ง โดยควรพิจารณาแนวทางใด แนวทางหนึ่ง เพื่อให้การทำงาน การบริหารประเทศเดินหน้าไปได้ โดยไม่ให้ประชาชนเสียโอกาส
 

การคืนอำนาจให้ประชาชน อาจจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในห้วงเวลานี้ ถ้าเลือกมาแล้วไม่ทำหน้าที่ ไม่มีความรับผิดชอบที่เหมาะสมกับที่ประชาชนให้อำนาจมา ต้องส่งอำนาจนั้นกลับคืนไปสู่ประชาชนพิจารณาอีกครั้ง

 

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3756 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.พ.2565