“โอมิครอน”ปิดเกมโควิด สัญญาณบวกศก.ไทย

15 ม.ค. 2565 | 00:45 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

ผ่านกรอบ 10 วันหลังปีใหม่ภาพชัดขึ้นเป็นลำดับว่า แม้การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะกลับมาพุ่งขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง จนคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะมีไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีสหรัฐอเมริกายังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทะลุวันละ 1.35 ล้านราย โดยยังคงเดินหน้าแผนถอนตัวจากนโยบายผ่อนคลายปริมาณเงิน (QE) ล่าสุดนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังย้ำ หากเงินเฟ้อยังทรงตัวสูงและนาน เขาอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานมากกว่าแผนเดิม
 

เช่นเดียวกับไทย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันเมื่อต้นสัปดาห์ว่า ยังคงคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 3.4 % และจะกลับไปเทียบเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในไตรมาสแรกปี 2566 ทั้งนี้ การระบาดสายพันธุ์โอมิครอนต้องจบภายในครึ่งปีแรก และไม่มีสายพันธุ์อื่นระบาดอีก เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นได้ในครึ่งปีหลัง 

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมประกาศให้การระบาดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ภายในปี 2565 จาก 3 ปัจจัย คือ 1.เชื้อลดความรุนแรงลง การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนแม้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วย และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง 2.ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากขึ้น จากการระดมฉีดวัคซีนได้ตามแผน และ 3.ระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษา ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการระบาดได้ดี ทั้งนี้ยังต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันส่วนบุคคลต่อไป 
 

จากแนวโน้มสู่การปิดเกมการระบาดเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว หลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งแรกปี 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. แถลงว่า ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-4.5% จากแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องที่คาดการณ์ หากสามารถบริหารจัดการการระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีล็อกดาวน์ และเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อ มีมาตรการระยะสั้นบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพง ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป

ทั้งนี้ ผลจากโอมิครอนกระทบการท่องเที่ยวระยะสั้น แต่ไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากความรุนแรงของโรคที่ลดลง และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มปรับตัวได้ และสนใจการท่องเที่ยวในประเทศอย่างสูง ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดจะกลับมาเพิ่มในไตรมาส 1 และมียอดทั้งปีได้ที่ 5-6 ล้านคน
 

นับเป็นแสงรือง ๆ  เริ่มสว่างที่ปลายอุโมงค์ จากนี้คือดูแลการฟื้นตัวให้เดินเครื่องต่อเนื่อง โดยไม่สะดุด จาก 4 ความเสี่ยง คือ 1.การระบาดอีกของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ 2.ดูแลเงินเฟ้อ แม้ตอนนี้ยังอยู่ในกรอบ 1-3% อย่าให้ขยายเป็นวงกว้าง 3.คลื่นหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ 4.ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  
  

ถึงเวลาฟื้นฟูเพื่อไทยกลับมาแข็งแรงกว่าเดิม