นายกรัฐมนตรี ไม่สมควรก้าวก่าย อำนาจฝ่ายตุลาการ

26 ม.ค. 2565 | 06:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากข่าวสารทางการเมือง ที่ดังอื้ออึงไปทั้งเมือง เรื่องพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับกลุ่ม 21 ส.ส.ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากพรรค จะเป็นข่าวใหญ่ที่กลบทุกข่าวก็ตาม แต่ข่าวการเมืองดังกล่าวมิอาจกลบข่าวสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งถือเป็นข่าวใหญ่ที่คอการเมืองมิควรมองข้ามได้เลย เหตุเพราะเนื้อหาของข่าวมีความสำคัญและความน่าสนใจอย่างยิ่งนั่นเอง 


ข่าวสำคัญดังกล่าวที่ว่านี้ก็คือ ข่าวอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ พร้อมผู้พิพากษาอีกจำนวนหนึ่ง เตรียมเข้าชื่อยื่นเรื่องร้อง ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ฐานแทรกแซงงานตุลาการ แต่งตั้งข้าราชการศาลยุติธรรม ที่อยู่ระหว่างถูกสั่งสอบทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ไปทำหน้าที่ในหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ซึ่งอยู่ๆ ข่าวนี้ก็เกิดเป็นกระแสข่าว ที่มาพร้อมกับข่าวการเมืองแบบน่าตกใจ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องของข้าราชการฝ่ายตุลาการนายหนึ่ง ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตและถูกตั้งกรรมการสอบวินัยรายนี้ เป็นเรื่องที่คนในวงการวิชาชีพนักกฎหมาย ทนายความ ผู้พิพากษาและอัยการ ต่างรู้ดีกันโดยทั่วไป เพียงแต่ประชาชนโดยทั่วไปอาจจะไม่ทราบข่าว หรือให้ความสนใจเท่านั้นเอง โดยในกลุ่มไลน์ของนักกฎหมาย จะมีเรื่องข่าวและข้อสงสัยในเรื่องที่นายกฯและรองนายกฯ ในรัฐบาลลุงตู่ ได้มีมติในหลายเรื่องที่ทำให้นักกฎหมายทั้งหลายเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง ดังปรากฏข้อความในกลุ่มไลน์ที่แชร์กันว่อน ที่ขอคัดมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านและช่วยพิจารณา ดังนี้


- 19 สิงหาคม 2564 นายสราวุธ เบญจกุล ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ถูกประธานศาลฎีกาตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเรื่องทุจริตปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง

- 23 กันยายน 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นายสราวุธ เบญจาธิกุลเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


- 5 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งนายสราวุธ เบญจาธิกุล เป็นรองประธานอนุกรรมการ ก.ต.ร.เกี่ยวกับเรื่องการอุทธรณ์วินัยข้าราชการตำรวจ


- 11 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีมติแต่งตั้ง นายสราวุธ เบญจาธิกุล เป็นกรรมการการไฟฟ้านครหลวง


กรณีดังกล่าว จึงมีผู้สงสัยว่าทั้งนายกฯ-รองนายกฯ มีคำสั่งตั้งและเห็นชอบให้ข้าราชการยุติธรรม คือ นายสราวุธ เบญจาธิกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกประธานศาลฎีกา มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เกี่ยวกับเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ไปให้มีตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐและของฝ่ายบริหารได้อย่างไร กรณีดังกล่าวจะถือเป็นการที่ฝ่ายบริหารแทรกแซงการบริหารงานบุคคลในสำนักงานศาลยุติธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 193 ที่บัญญัติรับรองความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของฝ่ายตุลาการไว้หรือไม่ 


และการกระทำของ นายกฯ-รองนายกฯ เป็นการแต่งตั้งเพื่อให้ความดีความชอบหรือให้รางวัลแก่ข้าราชการศาลยุติธรรม ที่กำลังถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงเกี่ยวกับการทุจริตหรือไม่ และเป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือสมควรหรือไม่ ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายในการต่อต้านและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และเรียกร้องขอความร่วมมือจากประชาชน แต่พฤติกรรมของรัฐบาลกลับส่อไปในทางส่งเสริมบุคคลที่กำลังถูกกล่าวหาถึงการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ที่สำคัญเป็นการถูกดำเนินการโดยอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ มิใช่หน่วยงานภายใต้กำกับของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด


ในขณะข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ ได้ถูกแชร์และเผยแพร่ไปทั่วทุกวงการ จนกลายเป็นข่าวที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำอันไม่เหมาะสมของนายกฯและรองนายกฯ ในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ยังไม่ปรากฏคำชี้แจงใดๆ จากรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ แต่เมื่อไม่มีคำชี้แจง ไม่มีการปฏิเสธใดๆ ย่อมทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นความจริง และเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง 


เพราะไม่มีเหตุผลอันใดเลย ที่ฝ่ายบริหารจะไปก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายตุลาการ หรือไม่เคารพการทำหน้าที่ของประธานศาลฎีกา ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ก็เข้าใจข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วยดี จึงไม่เหตุอันสมควรแต่อย่างใดที่จะกระทำเช่นนั้น ประหนึ่งว่าประเทศนี้ ไม่มีคนดีคนเก่งคนอื่นๆ ที่จะทำงานในหน้าที่ต่างๆ ตามที่รัฐบาลมีคำสั่งแต่งตั้งนั้นได้ การกระทำของรัฐบาลดังกล่าว จึงมีแต่เสียกับเสียเพียงเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของบุคคลคนเดียว จนยอมเสียหลักการสำคัญของบ้านเมือง จึงเป็นที่ครหาและสงสัยอย่างยิ่งว่า มันคุ้มกันไหมที่รัฐบาลยอมแลกกับเรื่องแบบนี้ เพราะวิญญูชนทั้งหลายย่อมวินิฉัยได้ว่าเสี่ยงและไม่สมควรอย่างยิ่ง


ข่าวเรื่องของข้าราชการศาลยุติธรรม ที่เป็นปัญหาและปรากฏเป็นข่าวมาโดยตลอดท่านนี้ รัฐบาลควรปล่อยให้เป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ฝ่ายตุลาการ ที่มีอำนาจโดยอิสระที่จะดำเนินการสอบสวน ลงโทษตามกฎหมาย ของข้าราชการฝ่ายตุลาการ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายบริหาร จะใช้อำนาจยื่นมือเข้าไปก้าวก่ายใช้อำนาจฝ่ายบริหารแต่งตั้ง ให้รางวัลความดีความชอบแก่บุคคลที่กำลังถูกสอบสวนวินัยร้ายแรง เช่นนี้ จนบานปลายกลายเป็นปัญหาระหว่างฝ่ายบริหาร กับอำนาจฝ่ายตุลาการ ถึงขนาดที่บุคคลระดับอดีตประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบรรดาผู้พิพากษา มิอาจยอมรับและทนเห็นการกระทำเข่นนั้นได้ ต้องเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบสวนเอาผิดนายกฯ-รองนายกฯ ดังที่เป็นข่าว


การปล่อยให้สถานการณ์ความขัดแย้ง และความไม่พอใจของฝ่ายตุลาการที่มีต่อฝ่ายบริหารในปัญหาเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆแก่รัฐบาล มีแต่จะทำให้ความนิยมศรัทธาต่อรัฐบาลตกต่ำลง ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ รัฐบาลอุ้มระเบิดเวลาไว้หลายลูกอยู่แล้ว ไม่ว่าปัญหาของแพงทั้งแผ่นดิน ปัญหาการเมืองที่เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด ที่ล้วนแต่หนักหน่วง มีเรื่องที่รอถล่มรัฐบาลมากพอแล้ว นายกรัฐมนตรี จึงไม่ควรสร้างปัญหาทำลายตัวเอง เพียงเพราะคนๆ เดียว เรื่องนี้ คิดผิดคิดใหม่ได้ ทำผิดก็แก้ไขได้ หยุดก้าวก่ายตุลาการเสียเถอะ เพราะมีแต่เสียกับเสีย ฟังคำเตือนของผู้อื่นที่เขาหวังดีเสียบ้างเถอะท่านนายกฯ