สังคมของคนที่มีศีลเสมอกัน

17 ธ.ค. 2564 | 23:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ 12 ที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติเชิญไปเป็นเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาว ในงานมงคลสมรสของลูกสาวเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีความรู้สึกว่า เรานี่แก่ตัวลงทุกวันแล้วนะ ยิ่งพอมีเพื่อนๆ นักเรียนสมัยมัธยมต้นมาร่วมงาน ยิ่งทำให้รู้สึกตัวว่าเราแก่แล้วจริงๆ ไม่ได้แกล้งแก่แล้วละคราวนี้ 


เพราะสิ่งที่เพื่อนๆ พูดถึง ก็มีแต่เรื่องราวในอดีตทั้งนั้น สมแล้วที่เขาว่าไว้ว่า “คนแก่ชอบเล่าความหลัง” แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราแม้จะคบหากันมายาวนานถึงห้าสิบกว่าปี แต่ความสัมพันธ์หาได้ลดน้อยลงไปกว่าเดิมไม่ พวกเรายังคงคบหากันอยู่เหมือนเดิมเสมอมา

สาเหตุที่คนแก่คบหากันมายาวนานนั้น ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ในสังคมของคนที่ได้กิน-นอนอยู่ด้วยกันในวัยเยาว์นั้น มักจะไม่ค่อยมีจิตใจที่มีความลับลมคมใน หรือมีจิตอันเป็นอกุศลต่อกัน เพราะในวัยเยาว์ แม้จะทะเลาะชกต่อยกัน แต่พอเลิกทะเลาะกันเพียงแค่วันสองวัน ทุกอย่างก็ลืมกันไปหมดแล้ว ยังคงกอดคอกัน ทานข้าวหม้อเดียวกันต่อ 


และยังคงมีเรื่องขำๆ ให้หัวร่อต่อกระซิกกันได้เสมอ ซึ่งข้อนี้แตกต่างจากคนที่สูงวัยขึ้น หรือเลยวัยรุ่นไปแล้ว พอทะเลาะกัน มักจะมองหน้ากันไม่ค่อยจะติด เพราะส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้ทะเลาะกัน มักจะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ในขณะที่ช่วงเยาว์วัย จะไม่มีผลประโยชน์เข้ามาทำให้ขุ่นข้องหมองใจกัน ดังนั้นความแตกต่างของเด็กกับผู้ใหญ่จึงมีความแตกต่างกันตรงนี้แหละครับ

ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ผมมีแขกมาเยือนที่บ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” ของผม หลังจากที่ผมได้พรีเซ็นต์งานของผมให้แขกกลุ่มนี้ได้รับชม คำถามที่ทางเขาถามออกมาเป็นคำถามแรกคือ ผมคิดอย่างไรที่จะเปิดให้มีลูกค้าหลากหลายสัญชาติเข้ามาพักอยู่ร่วมกัน แล้วจะจัดการกับคนที่วัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้อย่างไร ? 


ผมจึงตอบไปว่า คนเราจะอยู่ด้วยกันได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องมีศีลเสมอกัน หรือไม่แตกต่างกันมากนัก ศีลในที่นี้ ไม่ใช่ศีลธรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศีลที่ทุกคนมีอยู่ในตัวตนของตนเอง นั่นคือ ข้อแรก ทุกคนที่อยู่ด้วยกัน จะต้องมีความรู้หรือการศึกษาที่ไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป 


เพราะหากเราสังเกตดูให้ดีว่า เรามักจะชอบพูดว่า “ด็อกเตอร์คนนั้นพูดจาคุยกับเราไม่ค่อยรู้เรื่องเลย” แต่ด้วยความเป็นจริงแล้ว คนทั่วไปมักจะไม่หันกลับมามองตนเองก่อน แต่มักจะมองไปที่ตัวคนอื่นก่อนเสมอ ที่มีปัญหาอาจจะเป็นเพราะว่าเรามีความรู้ไม่ทัดเทียมเขาหรือเปล่าก็ไม่แน่ 


หรืออาจจะเป็นเพราะว่าแนวคิดของเรากับแนวคิดของเขาไม่เหมือนกัน แต่เผอิญว่าคนที่เรียนมาสูงหรือเรียนมามากจนมีดีกรีเป็นถึงด็อกเตอร์ ต้องใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จได้ จึงเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น  ซึ่งมักจะห่างชั้นกับชาวบ้านธรรมดาทั่วๆไป จึงทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่า ด็อกเตอร์คุยกันกับเราไม่รู้เรื่อง 


แท้ที่จริงแล้วอาจจะเป็นเพราะว่าระดับการศึกษาหรือความรู้ มีการเหลื่อมล้ำกันมากจนเกินไปก็ได้ ดังนั้นหากเราสามารถจัดการเรื่องของสถานที่อยู่ให้เหมาะสม คนที่มีระดับความรู้ใกล้เคียงกัน ควรจะอยู่ในคัตเตอร์เดียวกัน ก็จะมีความสุขมากขึ้นก็ได้ครับ

      
ศีลข้อที่ 2 คือสถานะทางเศรษฐกิจต้องใกล้เคียงกัน หรืออย่ามีความแตกต่างหรือห่างชั้นกันมากจนเกินไป ท่านสังเกตดูเถอะครับ ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาแค่ดูตัวเราเองเป็นเกณฑ์ก็ได้ครับ เช่นหากเราอยู่กับมหาเศรษฐี หรือคนที่มั่งมีเงินทองมากกว่าเรามากๆ เรามักจะทำตัวลีบไว้ก่อนเสมอ เวลาจะพูดคุยกันมักจะเกร็งไปหมด 


หรือบางคนอาจจะได้แต่ตอบรับ ครับๆๆๆ เสมอไป เมื่ออยู่ด้วยกันนานวันเข้า ความสุขที่เคยได้ปลดปล่อย อาจจะไม่สามารถทำได้ก็เป็นไปได้ หรือสุดท้ายก็คอยฟังเขาเป็นคนสั่งการ จนตัวเราเองอาจจะเปลี่ยนสถานะจากเพื่อนกลายเป็นขี้ข้าไปก็เป็นไปได้ครับ ดังนั้นคนที่อยู่ด้วยกันจะต้องมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน จึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขครับ


ศีลข้อที่ 3 คือสถานะทางสังคมต้องไม่ต่างกันมากจนเกินงาม บางคนเคยเป็นใหญ่เป็นโตมาก่อนที่จะเกษียณอายุมาอยู่ร่วมกันกับคนธรรมดาสามัญ ก็ควรต้องลืมอดีตที่เคยยิ่งใหญ่ไปให้ได้ มิเช่นนั้นคนจะไม่กล้าเข้าใกล้เรา หรือคนธรรมดาสามัญที่สูงวัยแล้ว ก็ต้องรู้จักตัวตนของเราและของคนอื่นให้ดี อย่าได้เคอะเขิน หรืออวดตัวว่ารู้จักคนนั้นคนนี้ หรือมีคอนเน็คชั่นอย่างนั้นอย่างนี้ 


เพราะในบั้นปลายของชีวิต ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุ ทุกคนมีคุณค่าของชีวิตที่เท่าเทียมกันหมด สุดท้ายอีกไม่นานเกินรอ ก็จะต้องนอนอยู่บนเชิงตะกอนเท่าๆ กัน ไม่มีใครใหญ่พอที่จะหลีกเลี่ยงสองวาสามศอกไปได้หรอกครับ ดังนั้นต้องคิดเสมอว่า สถานะทางสังคมในอดีต ล้วนแล้วแต่เป็นหัวโขนทั้งนั้น ถ้าคิดได้อย่างนี้ สุดท้ายจึงจะบันดาลความสุขให้กับตนเองได้ครับ
         

ศีลข้อที่ 4 ศีลที่ต้องเสมอกัน นั่นคืออุปนิสัยใจคอที่จะต้องใกล้เคียงกัน สิ่งที่ตนเองชอบหรือไม่ชอบ จะต้องใกล้เคียงกับคนที่เราอยู่ด้วยในสังคมนั้นเสมอ หรือไม่ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เพื่อนเราชอบเสมอ เพราะทุกปัจเจกบุคคล จะต้องมีทั้งข้อดีข้อเสีย หรือจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกันเสมอครับ 


ดังนั้นการที่จะจัดการให้คนที่อุปนิสัยแตกต่างกัน ให้มาอยู่ด้วยกัน ต้องมีการบริหารจัดการให้ดีครับ และมีรายละเอียดค่อนข้างเฉพาะตัวจริงๆ จึงจะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจที่ได้อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งผมก็คิดว่านี่คือคำตอบที่ทุกคนปรารถนาและต้องการกันละครับ