รสน้ำ 2 และป้านชา

11 ธ.ค. 2564 | 06:47 น.

คอลัมน์อิ่ม_โอชาฯ โดย Joie de La Cuisine

น้ำชงชานั้นท่านว่าดีที่สุดต้องมาจากธารน้ำไหลภูเขา ชั้นเซียนที่หนักแน่นจริงๆจะชงชาเขาไปตักไปขนแบกมาจากบนเขา โดยบุกไปยันต้นน้ำที่มันพุขึ้นมา เช่น น้ำพุหูเผ่าเสือวิ่ง ที่เมืองหังโจว, น้ำพุเย็นวัดจินซันเมืองเจิ้นเจียง, น้ำพุเขาซุ่ยซัน เมืองอู๋ซี่ หรือขี้เกียจปีนก็ไปบ่อพอได้ที่ซูโจว มีบ่อเนินเสือ_หูชวิน เป็นที่นิยมเนิ่นนานโบราณมาในหมู่เซเลบท้องถิ่นท้องที่ 
 

ขี้คร้านจะเดินทางไปขนแบก? คอน้ำชาเมืองไทยว่าน้ำแร่ฝั่งตะวันตกใช้ได้ดีพอ เช่น แร่นองจากระนอง/ จากพบพระ

อีที่นี้มาต่อด้วยกรรมวิธีชงชาด้วยรสน้ำ กาน้ำชาฝรั่งว่า Teapot มันฟังแล้วดูจะใหญ่ไปที่นี้เราไม่ใช้ ใช้ป้านชาแทน มันจะเล็กย่อมลงมาเท่ากำปั้นฝ่ามือ ป้านชานี้ต้องทำด้วยดินเผา ซึ่งมีรายละเอียดของมันอีก ป้านชาที่ดีทำจากดินที่ “หายใจได้” มันช่วยให้น้ำชา “รสนุ่ม” เหมือนไวน์แดงต้องมีดีแคนเตอร์ เหมือนชานมอิสลามต้อง “ชัก”
 

ได้น้ำดีๆมาแล้วต้มให้เดือนพล่าน เทรดราดลงไปในป้านชา-ปลุกมันก่อน หยิบใบชาแพงๆมาแยกเป็นสามกอง ชาหยาบใบใหญ่ๆ ชาหยาบใบกลาง และชาละเอียดๆเกือบผง

เอาใบใหญ่ๆใส่ตรงทางออกพวย ชาละเอียดวางก้นป้าน ใบหยาบกลางไว้บน เทน้ำเดือดลงป้านให้โดนชาทั่วกันจะเกิดฟองฟอดขึ้นดันเศษผงสกปรกออกมา เอาฝาป้านปาดทิ้งไป อนึ่งว่าน้ำแรกนี้ถ้าชาแพงมากๆไม่ต้องเททิ้ง_เสียดาย55
 

จากนั้นเอาจอกชามารอสัก 4 ใบ (ครบขา) เทลงจอก 1 นิด, จอก 2 หน่อย, จอก 3 น้อย, จอกสี่บ้าง แล้วเริ้มวนเทจอกหนึ่งอีกทีวนไป ซ้ำ 2, ซ้ำ 3, ซ้ำ 4 สองรอบ 
 

น้ำชาแต่ละจอกจักได้เข้มเท่าๆกัน เพื่อความเสมอภาคอันนำไปสู่ภราดรภาพแห่งสมาชิกผู้ร่วมเสพลิ้มความโอชาฯ ต่อไป


 

อนึ่งป้านชานั้นมีหลายแบบหลายที่มา มีคุณวิเศษลักษณะแตกต่างกันไป นัยยะสำคัญอยู่ที่การมีรูพรุนยิบย่อย และแหล่งกำเนิดที่มารวมทั้งศิลปินช่างปั้นผู้เปี่ยมเทคโนโลยีเคล็ดลับแสวงหาเนื้อดินละเอียดแร่ธาตุ เผาแต่งด้วยธาตุไฟ ซึ่งคงมิได้กล่าวถึงในที่นี้ หากยังมีนักเลงเครื่องปั้นท่านต่างๆผู้หลงไหลอธิบายไว้ได้ความกระจ่างดีน่าประทับใจอีกมาก ท่านผู้สนใจสามารถศึกษาต่อได้เอง


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 17 ฉบับที่ 3,739 วันที่ 12 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564