ศูนย์เฟคนิวส์“การเมือง” ต้องทำลายให้สิ้นซาก

19 พ.ย. 2564 | 09:24 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ค่ำวันที่ 17 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ผมแทบตกเก้าอี้ เมื่อ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” (Anti-Fake News Center) ที่มีการทำงานในลักษณะ Online และ Offline คอยติดตาม ตรวจสอบ ข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมวิเคราะห์แนวโน้ม และบ่งชี้ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม จากนั้นประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลิตข้อมูลที่ถูกต้อง 
 

แล้วดำเนินการจัดส่งข้อมูลต่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องประกอบการดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ และข้อสำคัญขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน และสาธารณชน จะผ่านกลไกภาคสื่อสารมวลชน อาทิ สมาคมนักข่าว หรือสื่อหน่วยงานอื่น ๆ เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ออกมาประกาศเผยแพร่เป็นการทั่วไปว่า.....

ข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ที่ตีพิมพ์นำเสนอไปเมื่อวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2564 ในประเด็น : ทุบ “หัวลำโพง” ขึ้นตึกสูง/ขุมทองเชื่อมไชน่าทาวน์ ผนึก 4 ศูนย์กลางเศรษฐกิจ” โดยได้นำแผนผังการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง 120 ไร่ แบ่งออกเป็น 4 โซน A B C D E ที่บริษัท SRT ASSET จำกัด ที่ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธาน คุณไตรทิพย์  ศิวะกฤษณ์กุล เป็นกรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการ เป็น “ข่าวปลอม” แถมเอาหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งขึ้น และ (X) ประทับตราว่าเป็น “ข่าวปลอม” 
 

จากนั้นเพจของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ให้ผู้คนรับทราบว่า “ฐานเศรษฐกิจ” ทำข่าวไม่จริง ทำข่าวปลอมขึ้นมาเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจผิด ข้อความดังนี้ 


 

“ข่าวปลอม อย่าแชร์! ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง....ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่อง ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
 

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชียลต่างๆ ระบุว่า การรถไฟฯ จะทำการทุบสถานีหัวลำโพงแล้วสร้างเป็นตึกสูงแทนนั้น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว และชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
 

กระทรวงฯ ได้มีนโยบายให้รถไฟทุกขบวน โดยเฉพาะรถไฟทางไกล ปรับสถานีปลายทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งใหม่ของประเทศไทย 


โดยมุ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในยุคใหม่ในทุกมิติ ทั้งด้านการเดินทางขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดภายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำแผนรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ก่อนล่วงหน้า

ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยหลังจาก รฟท. ย้ายการเดินรถไฟไปที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดแล้ว จะเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะเน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนายังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน 
 

ดังนั้น จะยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วนสำหรับแนวทางการพัฒนาจะให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายจากสถานีกลางบางซื่อมาสถานีกรุงเทพ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถท่องเที่ยวรอบเมือง และเรือท่องเที่ยว พื้นที่บางส่วนซึ่งปัจจุบันคือโรงซ่อมรถไฟ และพวงราง จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย แหล่งศูนย์รวมร้านค้าและอาหารที่มีชื่อรอบเกาะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อดีต ผสมผสานกับร้านค้าสินค้า แบรนด์เนมระดับโลก ที่ถูกจัดสรรให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน 
 

นอกจากนี้ ยังจัดสรรพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบ รวมถึงศูนย์ประชุมนานาชาติ และที่สำคัญคือ ยังคงอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ได้แก่ อาคารสถานีหัวลำโพง ชานชาลาอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะเชื่อมประวัติศาตร์ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างการอนุรักษ์มรดกอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ กับการสร้างรายได้เพิ่มให้กับการรถไฟฯ และประเทศ ฯลฯ
 

จากนั้นสำหนักข่าวหลายแห่งได้นำไปเผยแพร่ อาทิเช่น ผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอว่า “ข่าวปลอม! ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง”

https://mgronline.com/factcheck/detail/9640000114184  
 

mgronline.com : ร้องยี้ย้ายรถไฟไปบางซื่อ ขอรถชานเมืองเข้าหัวลำโพง เปิดศึกฐานเศรษฐกิจ-ศูนย์ต้านเฟกนิวส์

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000114242 
 

thaigov.go.th ข่าวปลอม อย่าแชร์*** ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/48376
 

ข่าวสด “รองโฆษก ตร.ชี้ ทุบสถานีรถไฟหัวลำโพง สร้างเป็นตึกสูง เป็นข่าวปลอม”

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6737239
 

เปลว สีเงิน :  FAKE NEWS!!!! ทุบสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างเป็นตึกสูง

https://www.plewseengern.com/plewseengern/74426
 

ในฐานะที่ผมเป็นประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด และดำรงตำแหน่งเป็น “Editor in Chife” ในกองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ที่เป็นสำนักข่าวทำหน้าที่มาอย่างยาวนาน 41-42 ปี ขอยืนยันว่าข่าวทั้งหมดที่เรานำเสนอไปเป็น “ข่าวจริง” และข้อมูลที่ได้มาในการนำเสนอก็มาจากแผนพัฒนาที่ดินการรถไฟฯและพิมพ์เขียวของบริษัท SRT แอสเสท จำกัด ที่กำหนดพื้นที่พัฒนากว่า 120 ไร่ มูลค่าที่ดินราว 14,400 ล้านบาท  

ข่าวพาดหัว ทุบ “หัวลำโพง” ก็นำเสนอเรื่องว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนพลิกโฉมหัวลำโพง หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่มีอายุ 105 ปี เป็นย่านพาณิชยกรรมแห่งใหม่ พัฒนาตึกสูงมิกซ์ยูสกลางใจเมือง โดยเปิดให้เอกชนเช่าลงทุนระยะยาว ตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมผ่าน บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท บริษัทลูกที่รฟท.ถือหุ้น 100% ประเมินว่าจะเป็นอีกขุมทองสร้างรายได้มหาศาลให้กับรฟท.เมื่อชานชาลาแห่งนี้ต้องลดบทบาทลง นับตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน และเปลี่ยนถ่ายการให้บริการเดินรถไปยังสถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ทันสมัยใหญ่ที่สุดในอาเซียน
  

แผนพัฒนาพื้นที่ หัวลำโพง แบ่งออกเป็น 5 โซน เริ่มตั้งแต่พื้นที่โซน A เนื้อที่ 16 ไร่ ส่วนของอาคารสถานีหัวลำโพง-พื้นที่สาธารณะ พื้นที่โซน B เนื้อที่ 13 ไร่ มีแผนปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์ พื้นที่ โซน C เนื้อที่ 22 ไร่ พื้นที่โรงซ่อมรถรางและรถโดยสาร กำหนดให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์รูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม เน้นความเป็นพื้นที่สีเขียวโดยรอบโครงการ โดยมีต้นแบบมาจากเวนิส อิตาลี ขณะพื้นที่โซน D เนื้อที่ 49 ไร่ พื้นที่ชานชาลา เส้นทางทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยนการเดินรถ มีแผนพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ ในรูปแบบมิกซ์ยูส เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์บนพื้นที่เดียวกันสูงสุด  อาทิ โรงแรม อาคารสำนักงาน
 

นอกจากนี้ ยังมีที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า โดยยึดต้นแบบ โตเกียว มิดทาวน์ ขณะพื้นที่โซน E  เนื้อท 20 ไร่ อาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุเดิม มีแผนพัฒนารูปแบบ มิกซ์ยูส อาทิ โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม ยึดต้นแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนเชื่อมการเดินทางรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินและ สายสีแดง Missing Link เส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง-บางซื่อ-หัวหมาก ระยะทาง 25.9 กิโลเมตรมูลค่า 4.41 หมื่นล้านบาท ที่มีแผนประมูล
 

แผนการพัฒนา แบ่งเป็น 1) พื้นที่ถนนทางเข้าออก และลานจอดรถบริเวณถนนพระราม 4 จำนวน 16 ไร่ มูลค่า 1,920 ล้านบาท 2) อาคารสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง 13 ไร่ มูลค่า 1,560 ล้านบาท 
 

3) ชานชาลา ทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยน 49 ไร่ มูลค่า 5,880 ล้านบาท 4) โรงซ่อมรถดีเซลราง และรถโดยสาร 22 ไร่ มูลค่า 2,640 ล้านบาท 
 

5) อาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุ 20 ไร่ มูลค่า 2,400 ล้านบาท รวมมูลค่า 14,400 ล้านบาท 
 

เรายังได้ทำแผนพังการพัฒนาพื้นที่ โซน A จำนวน 16 ไร่ บริเวณอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่สาธารณะจัดทำเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์และพัฒนาทัศนียภาพโดยรอบ โซน B จำนวน 13 ไร่ ปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์
 

โซน C จำนวน 22 ไร่ พื้นที่โรงซ่อมรถรางและรถโดยสาร จะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม ทางเดินเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เน้นความเป็นพื้นที่สีเขียวต้นแบบมากจากเมืองเวนิส  อิตาลี
 

โซน D จำนวน 49 ไร่ พื้นที่ชานชาลา ทางรถไฟ จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ แบบมิกซ์ยูส
 

โซน E จำนวน 20 ไร่ บริเวณอาคารสำนักงาน รฟท. ตึกคลังพัสดุเดิม จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม ให้ร่มรื่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลูกสร้างเชิงอนุรักษ์โครงสร้างอาคารเดิม และจะพัฒนาทางรถจักรยานริมทางรถไฟ 
 

ผมขอยืนยันในหลักการว่า ได้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง อาจจะไม่ถูกใจใคร แต่เรายืนยันในหลักการความถูกต้องว่าได้นำเสนอข้อมูข่าวสารอย่างมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ มิใช่นำข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้หนึ่ผู้ใด หน่วยงานใดพึงประสงค์อย่างแน่นอน


เราเรียกร้องให้ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” (Anti-Fake News Center) พิจารณาทบทวนกระบวนการทำงาน ทบทวนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง code-of-principles ที่กำหนดไว้สวยหรูว่า เน้น
 

1. ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว  2. ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว  3. การขัดกันด้านผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง 
  

4. ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน  5. สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้
  

6. มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้น ๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และโปร่งใส และสุดท้าย  7. เป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ
 

เป้าหมายและงบประมาณที่ได้ใช้ไปปีละ 800 ล้านบาท จะไม่มีความหมายและไร้ค่าโดยสิ้นเชิง หากตรรกะในการทำงานของ Anti-Fake News Center ยังมุ่งเน้นตอบสนองฝ่ายการเมืองที่ไม่ต้องการให้ใครคิดเห็นต่างจากข้าฯ
 

ผมจึงเขียนมาเพื่อยืนยันว่า เราคือของจริง แต่ Anti-Fake News Center คือของปลอม ที่ทำตามใจเสียงคำรามของผู้ทรงอิทธิพลที่ไม่ถูกใจกับข่าวสารที่ประชาชนพึงได้รับ
 

วิธีการทำงานที่ดีแต่ได้ เพื่อให้ตัวเองดูดี แต่ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรวิชาชีพอื่นโดยไม่ตรวจสอบ ไม่มีการสอบถามแล้วประทับตราว่า “ข่าวปลอม” นั้นถือเป็นการดิสเครดิตที่อันตรายต่อการทำงานของสื่อกระแสหลักอย่างยิ่ง 
 

เราจะไม่ปล่อยให้ใครทำแบบนี้กับเราเด็ดขาด เพราะสื่ออาชีพอย่างฐานเศรษฐกิจยืนอยู่ได้ด้วยความน่าเชื่อถือ มิใช่อำนาจ!


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3733 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-24 พ.ย.2564