“สภาวิศวกร”แจ๊คล้มยักษ์ ใครจะเอา “เทอร์มินัล 4 หมื่นล้าน”

13 พ.ย. 2564 | 00:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ผมนำเสนอเรื่องราวความพยายามของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พยายามออกแรงผลักดันโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) เงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น แม้มีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากหน่วยงานรัฐ และองค์กรวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้กำหนดนโยบายก็ผลักดันอย่างหนัก โดยไม่สนข้อทักท้วงของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี แต่อย่างใด ขนาดมีการทำหนังสือตัดแปะเปลี่ยนปก...


หลายคนบอกว่า...ผมขี้จุ๊...ใส่ไคล้ป้ายสีทำให้คนดีต้องมัวหมอง เอกสารหลักฐานนะมีมั๊ย ขอดูหน่อย..

ผมจึงขออนุญาตทุกท่าน เชิญทัศนาหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นการทำขึ้นของ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” รองกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ปฏิบัติงานแทน กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ เป็นหนังสือที่ ทอท. 13700 /2564 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ถึงผู้อํานวยการสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย


ความว่า “ด้วยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสําหรับโครงการ กิจการ หรือการดําเนินการ ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชน ในชุมชนอย่างรุนแรง “โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 

รายงาน EHIA โครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 กําหนดไว้ว่า “ในกรณีที่ ทอท. มีความจําเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ หรือมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือมาตรการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แตกต่างไปจากที่เสนอไว้ใน รายงาน EHIA โครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นไว้แล้ว ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติ หรืออนุญาตเป็นผู้พิจารณา นั้น......


บริษัท ท่าอากาศยานไทย ได้ว่าจ้าง “บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จํากัด” เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและจัดทํารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ  ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สําหรับโครงการ กิจการ หรือการดําเนินการ ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง “โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ : โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยาย ด้านทิศเหนือ” บัดนี้ ได้จัดทํารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ ดังกล่าว เรียบร้อยแล้ว 


ทอท.จึงขอนําส่งรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการให้สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยมี รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา” ลงชื่อ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” รองกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ปฏิบัติงานแทน กรรมการผู้อํานวยการใหญ่


นี่คือหนังสือที่ออกไปจาก ทอท.แล้วทางกรรมการสภาวิศกรระบุว่าเป็น “การตัดแปะ” และ ”เปลี่ยนปก” เปลี่ยนตรงไหน เปลี่ยนอย่างไร 


ผมพามาดูหนังสือที่กรรมการสภาวิศกร ทำหนังสือไปยัง เลขาธิการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสำเนาไปยัง เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 


หนังสือฉบับดังกล่าว จัดทำโดย “ไกร ตั้งสง่า” กรรมการสภาวิศวกร  ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2560 เรื่อง ขอให้ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจ กรณีการวิเคราะห์รายงาน EIA/EHIA ใน “โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ” ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำถึง “เลขาธิการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) โดยได้แนบ ผังแสดงพื้นที่ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสําเนาเอกสารกรอบความคิดในการออกแบบ (Unit Conceptual Design : UCD) โครงการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปด้วย...


หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ชนิดที่อ่านไปจะเห็นภาพชัดว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร


หัวข้อแรก  เป็นข้อเท็จจริง 1.1 ด้วย โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย ได้ใช้ความพยายามตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ที่จะก่อสร้างอาคารหลังนี้ขึ้นในพื้นที่ด้านทิศเหนือในตําแหน่งที่ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 อัน เป็นพื้นที่ที่ ทอท. กําหนดขึ้นมาโดยไม่สอดคล้องกับแผนแม่บท 


อีกทั้ง ปราศจากหลักวิชาการ ใดๆ ที่ สนับสนุนในด้าน Airport Simulation ร่วมอย่างเป็นพลวัตรกับ Runway Simulation, Air Traffic Airplane Parking, Terminal Usage และ Landside Traffic Simulation ซึ่งส่งผล ต่อประสิทธิภาพการบินในน่านฟ้า การใช้สนามบินโดยรวม ทั้งด้าน Airside และ Landside
 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิได้คํานึงถึงอันตรายอันสูงส่งจากผลกระทบที่อาจเกิดจากการ สัญจรจากทั้งทางด้าน Air Traffic และ Landside Traffic บริเวณอาคารที่จะสร้างซึ่งปฏิสัมพันธ์กับ Motorway ฝั่งลาดกระบัง (ทิศเหนือ) 


1.2 โครงการนี้จึงได้รับการต่อต้านและคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในด้าน วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์เกี่ยวกับ Airport Planning ตลอดจนสมาคมวิชาชีพและกลุ่มนักวิชาการจํานวนมาก อีกทั้ง ในความพยายามของ ทอท. ที่จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในระดับคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาก็ได้รับการทักท้วงจากสํานักงานสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) และสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น 


เพราะโครงการนี้ขัดกับ Master Plan และขัดกับลําดับความสําคัญของโครงการการขยายอาคารผู้โดยสารในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้แล้วตั้งแต่ประมาณปี 2553 ซึ่งลําดับการก่อสร้างดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้ผ่าน EIA/EHIA มาแล้วอีกด้วย


1.3 นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาเรื่องการบริหารงบประมาณการดําเนินโครงการก่อ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการบริหารงบประมาณ การดําเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทําและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร ที่มีข้อสรุปไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง ณ จุดที่ ผิดแผกไปจาก Master Plan ซึ่งเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับหน่วยงานทั้ง 2 แห่งข้างต้นอีกด้วย


หัวข้อที่สอง เป็นเรื่อง ลักษณะของโครงการ หนังสือระบุว่า 2.1 เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่เกิน 200,000 ตรม. ใช้เงินเกิน 2 หมื่นล้านบาทโดยไม่ สอดคล้องกับแผนแม่บท  


2.2 โครงการก่อสร้างอาคารฯ ขาดรายละเอียดในขั้นตอนการเสนอ EIA/EHIA ซึ่งจะดําเนินการ ประเมินผลได้ จะต้องจัดทําแบบก่อสร้างเป็นขั้นต่ำ คือ Detailed Design และควรมีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่มีใบอนุญาตตามหลักการของกฎหมายที่มีอยู่


2.3 โครงการก่อสร้างอาคารฯ ขาดรายละเอียดและความเข้าใจของผลกระทบ ระหว่างการ ก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อการใช้บริการและการปฏิบัติการอย่างมโหฬารเนื่องจาก


**** โครงการ ณ ตําแหน่งที่เสนอนี้ ต้องก่อสร้างสถานี Airport Rail Link สําหรับ Domestic คร่อมส่วนสนับสนุนสนามบินและอาคารปฏิบัติการ ที่ผู้รับสัมปทานจาก รฟท. ในอนาคต ดําเนินการให้บริการอยู่


*** โครงการ ณ ตําแหน่งที่เสนอนี้ ต้องก่อสร้างประตูขึ้นท่าอากาศยานแบบ Contact Gated และต้องย้ายระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่การจอดรอของอากาศยาน อีกทั้ง ต้องย้ายระบบสาธารณูปโภคทุกอย่าง ทําให้มีผลกระทบต่อ Master Plan และต้องสร้าง สิ่งก่อสร้างใหม่ทดแทนส่วนรื้อย้ายเสริมเติมใหม่ทั้งหมด 


*** โครงการ ณ ตําแหน่งที่เสนอนี้ ต้องก่อสร้างทางยกระดับสร้างแนวจอดรถรอรับส่งผู้โดยสาร ข้ามและลอดทางยกระดับเข้าทางอาคารผู้โดยสารเดิม 


*** โครงการ ณ ตําแหน่งที่เสนอนี้ ต้องก่อสร้างทางยกระดับคร่อมส่วนทางสัญจรฝั่ง Landside Road เข้า Terminal 1 อาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ตลอดจนคร่อมสํานักงานของสายการบิน อาคาร จอดรถชั้น 1 ที่มีอยู่ 


2.4 มีข้อสังเกตอีกด้วยว่า แม้แต่ในกรณีโครงการจ้างออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ที่ยกเลิกไป ก็ยังกําหนดความต้องการให้ผู้ออกแบบก่อสร้างต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ข้อ 2.5) และการศึกษาผลกระทบจากการก่อสร้างฯ (ข้อ 2.6) ตามที่กําหนดไว้ในกรอบแนวความคิดในการออกแบบตาม สิ่งที่ส่งมาด้วย 2 ซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็กกว่าประมาณ 5 เท่า และใช้งบประมาณน้อยกว่า 5 เท่า ก็ได้ปรากฏให้เห็นแล้วถึงปัจจัย และเงื่อนไขที่ต้องจัดทํารายละเอียดใน EIA/EHIA ให้ชัดเจนและสมบูรณ์


หัวข้อที่สาม เป็นประเด็นเสนอเพื่อพิจารณา มี 3 ประเด็น ที่น่าจะเป็นการทักท้วงที่เจ็บแสบร้อนเอามากๆ…


ประเด็นพิจารณาในข้อแรกระบุว่า “การดําเนินการในโครงการนี้ น่าจะเป็นการดําเนินการที่ขาดความโปร่งใสเพราะส่อพฤติกรรม ที่ขัดหลักธรรมาภิบาล เพราะโครงการนี้ถูกปิดบังข้อมูลและข้อเท็จจริงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ความสามารถในการ ให้บริการด้านการบิน และการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสิ้นเชิง แม้ว่าสมาคม วิชาชีพหรือกลุ่มผู้ คัดค้านจะมีการทําหนังสือติดตามและทวงถามข้อมูลในประเด็นเทคนิค ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะและร้องขอให้ ทอท. จัดทํารายการคํานวณต่างๆ แต่ก็มิได้รับการชี้แจงหรือแสดงถึงหลักการและเหตุผลใดๆ ที่ชัดเจนตามหลักวิชาการ ....


แต่ ทอท. กลับมีการหลบเลี่ยงเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งชื่อโครงการ (ณ ตําแหน่งนี้ ชื่อ เดิมเรียกโดยสาธารณชนว่าอาคาร “ตัดแปะ”) มาโดยตลอด ล่าสุด ทอท. ได้มีการจัดส่งเอกสารฉบับหนึ่ง ให้สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกแปลงปกและเนื้อหาสาระสําคัญของโครงการ ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้แอบแฝงอยู่ ในเรื่อง “รายงานการเปลี่ยนแปลง รายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสําหรับโครงการ กิจการ หรือการดําเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของ ประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ : โครงการ ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ” 


นับเป็นการผูกติดชื่อแอบแฝงไปกับ คนละโครงการและสถานการณ์ และเป็นโครงการก่อสร้างอาคารที่มีผลกระทบ EIA/EHIA สูงมาก และเป็นการดําเนินการคนละเรื่อง คนละสาระกับทางวิ่ง (Runway) โดยสิ้นเชิง”


ประเด็นพิจารณาในข้อที่สองระบุว่า  “การดําเนินการเช่นนี้ ล้วนบ่งบอกถึงการทําลายหลักการสําคัญของรายงาน EIA หรือ EHIA อันเป็นเครื่องมือที่ต้องจัดทําขึ้นตามหลักวิชาการ มาตรฐาน และคํานึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และครอบคลุม สาระ และความสําคัญที่สุด คือ ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นที่สังเกตได้ว่า ในการฟ้องร้องใดๆ ที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับกรณีเช่นนี้ในอดีต ส่วนใหญ่จะมาจากการจัดทํารายงาน EIA หรือ EHIA ที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้มี กระบวนการลดผลกระทบอย่างแท้จริงเป็นเพียงการดําเนินการตามธงที่ได้ตั้งไว้เพื่อให้เป็นไปอย่างที่หน่วยงาน ต้องการ”


ประเด็นพิจารณาข้อสามระบุว่า “การจัดทํารายงาน EIA หรือ EIA จึงต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้อง มีกระบวนการ และมี ความเป็นอิสระ โดยผู้กํากับดูแล ผู้อนุญาต และผู้ขออนุญาต ต้องมีธรรมาภิบาลในการเปิดเผยข้อมูลที่สําคัญใน แต่ละช่วงเวลาก่อสร้างและการดําเนินการ อีกทั้งต้อง มีกระบวนการที่คํานึงถึงและชดเชยผู้ มีส่วน ได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการและธรรมาภิบาล... 


ดังนั้น รายงาน EIA หรือ EHIA จึงถือเป็น เครื่องมือที่จะยังความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3731 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย.2564