เอาให้สุดไปเลยพี่! รัฐฟัดรัฐ “ที่ดินเขากระโดง”

27 ต.ค. 2564 | 06:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย... บากบั่น บุญเลิศ

เปิดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมขึ้นมา มีข่าวชิ้นหนึ่งที่สื่อหลายสำนักนำเสนอแล้วต้องอ้าปากค้างไปตามๆกันคือ “ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟท. ยื่นศาลปกครองฟ้องกรมที่ดินปมออกโฉนดมิชอบ ลั่นประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรม (ผู้จัดการออนไลน์ วันจันทร์ 25 ตุลาคม 2564)
 

“ศักดิ์สยาม” เผย “กรมที่ดิน” มีหนังสือถึง “รฟท.” เพิกถอนที่เขากระโดงไม่ได้ (กรุงเทพธุรกิจ 25 ตุลาคม 2564)
 

ข้อพิพาทเรื่องการบุกรุกที่ดินการรถไฟฯ 5,000 ไร่ บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ได้แปรสภาพการต่อสู้จาก “รัฐ-เอกชนนำทีมโดยกลุ่มตระกูลชิดชอบ+ชาวบ้านอีกกว่า 800 ราย” ที่ลากมายาวนาน แม้จะมีคำตัดสินของศาลฎีกาแล้วก็ตามแต่ มาเป็น “หน่วยงานของรัฐฟัดกับหน่วยงานของรัฐ” ไปเสียแล้ว
 

เอาให้สุดไปเลยพี่! รัฐฟัดรัฐ “ที่ดินเขากระโดง”
 

ประเด็นที่ถูกเปิดเผยออกมาจากปากของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”  รมว.คมนาคม ผ่านสื่อว่า ปมความขัดแย้งในเรื่องการบุกรุกที่ดิน 5,000 ไร่เศษ ที่แปรสภาจากความขัดแย้งระหว่าง “การรถไฟฯ ที่เป็นเจ้าของที่ดิน-เอกชนที่เป็นผู้บุกรุก” มาเป็น “การรถไฟฯ-กรมที่ดิน” สาระใหญ่คือ...

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำหนังสือถึงกรมที่ดินขอให้พิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เมื่อเดือนมิถุนายน ล่าสุด กรมที่ดินได้มีหนังสือถึง รฟท.แล้วว่า “ไม่สามารถเพิกถอนโฉนดที่ดินในพื้นที่เขากระโดงได้ เนื่องจาก รฟท.ไม่มีแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง พ.ศ. 2464”

 

 ...เมื่อกรมที่ดินมีหนังสือตอบว่า ไม่เพิกถอน ยืนยันว่าทำถูกต้องแล้ว “ศักดิ์สยาม” ให้ข่าวว่า สิ่งที่ รฟท.ต้องดำเนินการคือ ไปฟ้องศาลปกครองว่า โฉนดที่ดินทั้งหมดที่กรมที่ดินออกมา เป็นการดำเนินการโดยมิชอบ  
 

“ผมได้สั่งการไปยัง คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท.ให้ดำเนินการแล้ว”
 

“ผมให้นโยบาย รฟท.ว่า ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง กรณีมีการออกโฉนดทับที่ดินของการรถไฟฯ ทั่วประเทศ ต้องดำเนินการเหมือนกัน ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน รฟท. จะไม่ละทิ้งสิทธิของประชาชนเมื่อกรมที่ดิน มีการออกโฉนดโดยมิชอบ ก็ต้องร่วมกันต่อสู้” ศักดิ์สยาม ชี้แจง


 

ศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า “การที่ให้ รฟท.ไปดำเนินการนั้น ไม่ได้หมายความให้ รฟท.ไปฟ้องประชาชน แต่ให้ฟ้องกรมที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้อง ต่อไปจะได้ไม่ต้องมาบอกเป็นที่ดินพ่อผม ที่ดินพี่ชายผมอีก เพราะจะเป็นที่ของใคร ก็ดำเนินการเหมือนกันหมด หากกรมที่ดินออกโฉนดไม่ถูกต้อง”....มันส์ พะยะค่ะ....
 

ใครที่คิดว่ากรณีการบุกรุกที่ดินที่รถไฟฯ จะจบง่ายๆ และใครที่คิดว่า “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เป็นรัฐมนตรีแล้วละเว้นการปฏิบัติจนเข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขาดจริยธรรมอย่างร้ายแรง....ขอบอกว่าผิดถนัดกันทั้งหมด....ท่านรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ทำงานอย่างเต็มที่เหนือกว่าที่ใครจะคาดคิดเสียด้วยซ้ำไป
 

ใครที่สงสัยว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564  รฟท.ได้ทำหนังสือ เลขที่ รฟ 1/1911/2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและการหาข้อยุติกรณีที่มีการออกเอกสารสิทธิให้แก่ประชาชนกว่า 900 รายในที่ดินที่เชื่อว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯนั้นทำไปทำไม บัดนี้มีคำตอบอยู่ในตัว
 


 

แต่ก่อนจะเกิดการต่อสู้กันทางคดีระหว่าง “หน่วยงานของรัฐ-หน่วยงานของรัฐ” ในการทำหน้าที่ระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน-เจ้าหน้าที่ผู้ออกโฉนดที่ดิน โดยที่ “จำเลย-ผู้ครอบครองที่ดินที่เป็นเอกชนยืนกอดอกคอยชี้นิ้วสั่งการ” นั้น
 

ผมพามาดู คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8027/2561 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2561 ระบุว่า “ศาลฎีกาเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่นำเสนอโดยการรถไฟฯ ว่าพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดง ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 เนื้อที่ราว 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ”
 

ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2462 มีประกาศพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้กรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจและวางแนวรถไฟอันแน่นอนช่วงตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้แล้วเสร็จใน 2 ปีนับจากประกาศ
 

และในระหว่าง 2 ปีที่กำหนดไว้นี้ “ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดจับจองที่ดินซึ่งว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ..
 




ส่วนที่ดินที่มีเจ้าของก่อนวันประกาศพ.ร.ฎ. ห้ามมิให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่ไปยกให้หรือขายซื้อ แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด..
 

และห้ามมิให้สร้างบ้านเรือนหรือปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากข้าหลวงหรือผู้แทน
 

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการประกาศพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี วันที่ 8 พ.ย.2462 แล้ว ข้าหลวงพิเศษเห็นว่า การก่อสร้างทางรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้หินเพื่อโรยทาง จึงวางแนวและดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์ อันเป็นแหล่งระเบิดหินและย่อยหินระยะทาง 8  กม.
 

ปรากฏว่า ในช่วง 4 กม.แรก มีผู้เป็นเจ้าของที่ดิน 18 ราย ส่วนอีก 4 กม.ถัดไปจนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหิน เป็นป่าไม้เต็งรังไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง มีความกว้างจากแนวกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 1 กม. มีการจัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดิน 18 ราย ระบุไว้ในแผนที่ด้วย


ต่อมาวันที่ 15 ส.ค.2464 พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 มีผลบังคับใช้ โดยมาตรา 3 (2) บัญญัติว่าที่ดินรถไฟหมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟ โดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
 

มาตรา 20 บัญญัติว่า ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระจัดการในการจัดซื้อที่ดินตามที่เห็นจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ
 

มาตรา 6 บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีการประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้นๆได้ขาดจากการเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
 

กระทั่งวันที่ 7 พ.ย.2464 มีประกาศพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ขยายระยะเวลาการตรวจและวางแนวเขตทางรถไฟช่วงจังหวัดสุรินทร์ถึงอุบลราชธานีออกไปอีก 1 ปี นับจากวันที่ 8 พ.ย.2464
 

ในวันที่ 7 พ.ย.2464 ยังมีการออกพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง และให้ยกเลิกพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 เฉพาะตอนตั้งแต่ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา ถึงจ.สุรินทร์ ซึ่งตรวจและวางแนวรถไฟได้แน่นอนแล้ว และให้ใช้พ.ร.ฎ.นี้แทนในเขตเดียวกัน
 


ทั้งให้กรมรถไฟแผ่นดิน เป็นธุระจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่น ตามที่เห็นว่า จำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ จาก ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา ถึงจ.สุรินทร์ โดยที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งต้องจัดซื้อที่ระบุไว้ท้ายพ.ร.ฎ. และให้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.ด้วย
 

ต่อมาวันที่ 27 ก.ย.2465 มีพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง และให้ยกเลิกพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และฉบับลงวันที่ 7 พ.ย.2464
 

ศาลฯ จึงเห็นว่า เมื่อพิจารณาแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 ปรากฏว่า มีแนวทางรถไฟ 2 ส่วน
 

ส่วนแรก 4 กม.แรก (ตั้งแต่ กม. 0+000 ถึง กม. 4+540) ซึ่งระบุความกว้างจากกึ่งกลางไม่ชัดเจน และมีการระบุชื่อเจ้าของที่ดิน 18 รายนั้น จากการเบิกความนายตรวจทางบุรีรัมย์ มีการยืนยันว่าในช่วง 3 กม.แรก (กม. 0+000 ถึง 3+000) เขตที่ดินรถไฟมีความกว้างจากกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 15 เมตร ถัดไปจนถึง กม.4+540 กว้างข้างละ 20 เมตร เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินจ่ายเงินค่าทำขวัญให้เจ้าของที่ดิน 18 ราย และมีการลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือรับเงินทำขวัญแล้ว ที่ดินตามแนวทางรถไฟ 4 กม.แรก และพื้นที่ข้างทางข้างละ 15 เมตรและ 20 เมตร จึงเป็นที่ดินที่กรมรถไฟแผ่นดินจัดซื้อเพื่อประโยชน์ของการรถไฟฯ
 


ส่วนที่สอง ช่วง 4 กิโลเมตรถัดไป เป็นที่ดินที่ไม่มีเจ้าของนั้น การที่พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่กำหนดไว้ในพ.ร.ฎ. ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าจับจองที่ดินซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้าหลวงพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งตามพ.ร.ฎ. และกรมรถไฟแผ่นดิน มีอำนาจกำหนดพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของเป็นที่หวงห้ามไว้ เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างทางรถไฟได้ ข้าหลวงพิเศษและกรมรถไฟแผ่นดิน จึงมีอำนาจเจ้าไปยึดถือที่ดินที่ไม่มีเจ้าของในช่วง 4 กม.ถัดไปด้วย
 


 

“ที่ดินตามแผนที่ที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 เป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462”
 

เมื่อคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินรถไฟฯ การรถไฟฯ จึงมีหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ที่ดินทุกแปลงบริเวณเขากระโดง ไม่ให้เอกชน หรือ บริษัทใดๆ ถือครองกรรมสิทธิ์ รวมถึงห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟด้วย เช่นกัน...
 

แต่ตอนนี้อย่าว่าแต่จะยึดเลย แค่เพิกถอนยังทำไม่ได้...แล้วที่ดินปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใครครอบครองมูลค่าเท่าใด
 

สนามช้างอารีน่า ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มูลค่าการก่อสร้างกว่า 500 ล้านบาท 
 

โครงการบุรีรัมย์ คาสเซิล คอมมูนิตี้มอลล์และที่ตั้งปราสาทหินพนมรุ้งจำลอง มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท 
 

ที่ดินของการรถไฟฯ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 ยังมีบางส่วนของสนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต
 

ไม่อยากพูดมาก…เจ็บคอ!