กลับลำสั่งไม่ฟ้อง “เลขาพจมาน” เรื่องไม่ธรรมดาในคดีฟอกเงิน!

15 ต.ค. 2564 | 23:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดยบากบั่น บุญเลิศ

เสียงซุบซิบในวงการการเมืองช่วงเดือนกันยายน 2564 ว่า “พนักงานอัยการได้ส่งสำนวนคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท ด้วยการกลับความเห็นเดิมที่เคยสั่งฟ้องเป็นการสั่งไม่ฟ้องคดีในส่วนของ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัว คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และ นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้เป็นสามี โดยส่งเรื่องกลับไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาว่า จะโต้แย้งความเห็นของพนักงานอัยการที่กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้หรือไม่”...ก็กลายเป็นความจริงที่สั่นสะท้านในวงการยุติธรรมไปทั้งปฐพี
 

7 ตุลาคม 2564 นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวว่า พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน และ นายวันชัย หงษ์เหิน สามี ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินที่หลบหนีคดี...เสียงที่ซุบซิบกันว่า กลยุทธ์ “Saving Private Oak-Panthongtae” กำลังพ่นพิษใส่กระบวนการยุติธรรมไทย
 

ฟังกันดีๆ นะครับ...ผมขออธิบายให้ฟังเป็นฉากๆ จะได้เข้าใจว่า ทำไมถึงบอกว่า “Saving Private Oak-Panthongtae” กำลังพ่นพิษใส่กระบวนการยุติธรรมไทย

คดีนี้พัวพันเกี่ยวเนื่องมาจาก การที่สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้รับสำนวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ.) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เป็นคดีที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มี นายสุนทรา  พลไตร เป็นผู้กล่าวหา นางเกศินี จิปิภพ  นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน และ นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 1- 4 ในข้อหา “ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน” ช่วงระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ต่อเนื่องกัน    
 

คดีนี้มีมูลเหตุเกี่ยวพันกับคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 ที่อัยการสูงสุดฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยที่ 1 พร้อมกับพวกอีกหลายคน  ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการยักยอก ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 

มูลคดีสืบเนื่องจากธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ให้กับ บริษัท กฤษดานครมหานคร จำกัด (มหาชน) นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชาย กับพวก ต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ หมายเลขดำที่ อม. 3/2555 หมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 พิพากษาไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม  2562 โดยให้ยกฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมา ยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่านายทักษิณ กระทำความผิดตามฟ้อง จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง....ข้อกล่าวหาว่า เจ้านายสั่งให้ปล่อยกู้จึงไม่มีน้ำหนักพอ
 

อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีลูกพ่วงตามมา เพราะในสำนวนการฟ้องนั้นมีการกล่าวหา นางกาญจนาภา หงษ์เหิน และ นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้เป็นสามี อยู่ด้วย 
 

ต่อมา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 4 พิจารณาแล้ว “มีคำสั่งไม่ฟ้อง” นางเกศินี จิปิภพ ผู้ต้องหาที่ 1 และส่งเรื่องให้ดีเอสไอพิจารณา อธิบดีดีเอสไอพิจารณาแล้วมีมติเห็นพ้องกับการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ  คดีนางเกศินี ผู้เป็นมารดาของนางกาญจนาภา จึงเสร็จเด็ดขาด
 

ส่วนการฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน และนายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยที่ 2-4 นั้น พนักงานอัยการมี “คำสั่งฟ้อง” ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินตามข้อกล่าวหา แต่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องนางกาญจนา และนายวันชัย เพราะหลบหนี ...เอาละทีนี้เริ่มเข้าไคลแมกซ์ของเรื่อง...
 

ประเด็นต่อมาที่กลายเป็นปัญหาในปัจจุบันคือ คดีการฟ้องร้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร พนักงานอัยการสำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินเรียบร้อยแล้ว ต่อมาศาลมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” นายพานทองแท้....เป็นการยกฟ้องที่มีปัญหาคาใจผู้คนมาจนถึงตอนนี้...
 

เพราะความเห็นของผู้พิพากษาในคดีรับเช็ค 10 ล้านบาทนั้น ผู้พากษาแตกออกเป็น 2 ส่วน 
 

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เห็นว่า นายพานทองแท้ มีความผิดสมควรลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา 
 

ผู้พิพากษาอีกรายหนึ่งในองค์คณะ เห็นว่า นายพานทองแท้ไม่มีความผิด เห็นควรยกฟ้อง 
 

เมื่อเกิดความเห็นต่างของผู้พิพากษา ส่งผลให้ต้องยกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา มาตรา 184 ที่บัญญัติว่า ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษาข้าหลวงยุติธรรม หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้น หรือ เจ้าของสำนว นเป็นประธาน ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก... 
 

“ถ้าในปัญหาใด มีความเห็นแย้งกันเป็น 2 ฝ่าย หรือเกินกว่า 2 ฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า....”
 

จะเห็นได้ว่า แม้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา “ยกฟ้อง” แต่ยังมีช่องเพราะความเห็นต่างปรากฏชัด 
 

คำถามคือ หน่วยงานของรัฐต้องสู่ต่อไปตามกฎหมาย หรือจะยอมรับความพ่ายแพ้ทันที...คุณไม่มีทางรู้นอกจากจะพิจารณาจากข้อมูลขององค์กรรัฐ
 

ปรากฏว่า คณะทำงานในสำนักอัยการคดีศาลสูง สำนักงานอัยการสูงสุด มีมติพิลึกพิลั่น ”Saving Private Oak-Panthongtae” ไม่ยื่นอุทธรณ์คดีฟอกเงินของ นายพานทองแท้ ในคดีรับเช็ค 10 ล้านบาทเศษ
 

จากนั้นจึงส่งความเห็นไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จนเมื่อปลายเดือน เมษายน 2563 ดีเอสไอจึงทำความเห็นส่งกลับไปยังอัยการสูงสุดว่า คดีนี้มีประเด็นสำคัญควรให้ศาลสูงวินิจฉัย จึงขอให้อุทธรณ์คดีดังกล่าว....
 

ผมอยากให้โน้ตตรงนี้ไว้ครับเพราะสำคัญมาก เนื่องจากในช่วงวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 6 ปรากฏว่า ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ขยายเวลาอุทธรณ์ออกไปได้ถึง 25 มิถุนายน 2563 แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในช่วงอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นขอขยายออกไปนั้น  รองอัยการสูสุดรายหนึ่งที่ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ลงนามคำสั่งชี้ขาด “ไม่ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว” คดีนี้จึงถึงที่สุด
 

อยากรู้ใช่มั่ยว่า พนักงานอัยการที่มีคำสั่งไม่อุทธรณ์ คือใคร...เขาคือ เนตร นาคสุข
 

คดีรับเช็คและฟอกเงินที่ฟ้อง นายพานทองแท้ นั้น มี 2 ส่วนคือ ส่วนของ 10 ล้านบาท ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง”  กับคดีรับเช็ค 26 ล้านบาท
 

คดีรับเช็ค 26 ล้านบาท นี่แหละที่กลายเป็นปมปัญหาใหญ่ในขณะนี้...และนำพามาซึ่งการกลับลำสั่งไม่ฟ้องเลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
 

คดีนี้เป็นผลมาจากในปี 2561 อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี จิปิภพ มารดาของ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง และพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน
 

วันที่ 12 ตุลาคม 2561 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า การที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายพานทองแท้ กรณีเช็ค 26 ล้านบาท ฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงิน พนักงานสอบสวนดีเอสไอพิจารณาสำนวนคดีในส่วนเงิน 26 ล้านบาทแล้ว ดีเอสไอเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน 
 

แต่ในส่วน นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของนายทักษิณ กับนายวันชัย หงษ์เหิน สามี อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องฐานสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน เฉพาะการรับเช็ค 26 ล้านบาท ก่อนที่นางกาญจนาภา และ นายวันชัย จะถูกออกหมายจับ หลังหลบหนีคดีออกไปนอกประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2561 ที่ผ่านมา เบาะแสสุดท้ายอยู่ที่เกาะฮ่องกง
 

คำถามคือ ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด รับรู้หรือไม่ว่าในช้อกฎหมายนั้นมีช่อโหว่ ช่องว่าง...บะเริ่มเทิ่ม...คำตอบคือ รู้ เต็มอก...
 

ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 58 วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาไว้ว่า “ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทำความผิดในคดีเดียวกัน และได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้องในเหตุลักษณะคดี และคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว ให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็น หรือคำสั่ง สำหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย” แปลเป็นไทยว่า ถ้าคดีตัดสินเด็ดขาดไปอย่างไร คนอื่นที่โดนคดีก็ไปตามนั้น...
 

30 กรกฎาคม 2563 นางกาญจนาภา และ นายวันชัย ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 4 เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งฟ้องนางกาญจนาภา และสามี โดยอ้างว่า....
 

ข้อเท็จจริงรูปแบบพฤติการณ์ที่กล่าวหาเป็นกรณีเดียวกันกับที่กล่าวหานายพานทองแท้ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องไปแล้ว มูลเหตุก็เป็นกรณีสืบเนื่องจากการกล่าวหานายทักษิณชินวัตร และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่ไต่สวนฟังไม่ได้ว่านายทักษิณ ชินวัตร กระทำความผิดตามฟ้องและพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน
 

ข้อกล่าวอ้างว่า เช็คที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายเงิน 26 ล้านบาท ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหาคดีนี้ ก็เป็นเรื่องธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ บริษัท ช. การช่าง ในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต ต่อมามีการขายหุ้นและได้คืนเงินลงทุนพร้อมกำไรร่วม 27 ล้านบาทเศษ ไปแล้ว ข้อเท็จจริงนี้มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุน
 

พนักงานอัยการได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการร้องขอความเป็นธรรมเห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงใหม่ ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสองร้องขอความเป็นธรรม 
 

พนักงานอัยการยังเห็นว่า  คดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใด ๆ ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยหรือมีบทบาทหรืออำนาจใด ๆ ในการบีบบังคับธนาคารตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์ กับพวกดังกล่าว
 

จึงเห็นว่าการร้องขอความเป็นธรรม มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็น และคำสั่ง จึงมีคำสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาและนายวันชัย ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
 

รอดูว่า อธิบดี ดีเอสไอ จะเห็นพ้อง หรือ แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ
 

หากเห็นพ้องคำสั่งไม่ฟ้องก็เป็นอันว่า จบเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้าอธิบดีดีเอสไอ.เห็นแย้ง ก็จะเสนออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาชี้ขาดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 
 

“อาชญากร มักจะทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้ในสถานที่เกิดเหตุเสมอ (Edmond Locard  เคยกล่าวไว้ว่า “Every Contact Leaves Trace: การสัมผัสทุกครั้งยอมทิ้งร่องรอย”) กลายเป็นหัวใจของการสืบสวนและสอบสวนฉันใด...
 

กระบวนการตรวจสอบองค์กรของรัฐก็ควรจะสืบสาวลงไปใน “เหตุและผลของกระบวนการตัดสิน” แล้วจะพบร่องรอยให้ชวนศึกษา ขบคิด บางคราอาจ “ชวนขนหัวลุก” เลยทีเดียว