ชำแหละ SCB แตกหน่วยธุรกิจ

24 ก.ย. 2564 | 00:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By... เจ๊เมาธ์

*** การที่ SCB ประกาศจะเพิกถอนตัวเองออกจากตลาดหุ้น ถือเป็นความกล้าที่จะเปลี่ยนซึ่งไม่ค่อยจะได้พบเห็นในตลาดหุ้นไทย เพราะการเพิกถอน SCB ออกแล้วผลักดันบริษัทใหม่ชื่อ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน จะกลายเป็นตัวแบบที่อาจทำให้มีสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งมีธุรกิจหลากหลายในเครือเช่นเดียวกับ SCB อาจจะต้องเดินตามรอย SCB ตามมาในอนาคต
 

ซึ่งในการผลักดันให้ SCBX เข้ามาอยู่ในตลาดฯ ผู้ถือหุ้นเดิมของ SCB จะต้องทำการแลกหุ้น SCB เดิมกับหุ้น SCBX ทำให้มีเงินปันผลพิเศษจำนวน 70,000 ล้าน โดยเงินประมาณ 70% คิดเป็น 49,000 ล้านบาท จะถูกนำมาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อยซึ่งอยู่ภายใต้ร่มของบริษัทแม่อย่าง SCBX อีกหลายบริษัท เช่น 
 - Card X บริษัทที่ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต 
 - Alpha X บริษัทที่ปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของรถหรูและยานพาหนะหรูทางน้ำ เช่น เรือยอช์ต
 - Tech X ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ทำธุรกิจเทคโนโลยี
 - AISCB ร่วมมือกับ AIS ทำสินเชื่อผ่าน Digital Platform
 

ในขณะเดียวกัน SCB ก็จะจับมือกับกลุ่ม CP เพื่อจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 20,000-27,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน, สินทรัพย์ดิจิทัล, Decentralized Finance, FinTech และเทคโนโลยีอื่น ๆ
 

ส่วนเงินปันผลที่เหลืออีก 30% หรือคิดเป็น 21,000 ล้านบาท จะถูกนำมาจ่ายเป็นปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้น SCBX ซึ่งคาดว่าจะจ่ายได้ในช่วงปีหน้า
 

สำคัญที่สุดของการแบ่งกลุ่มธุรกิจของ SCB ในครั้งนี้ คือ การแยกธุรกิจธนาคาร กับธุรกิจอื่นออกจากกัน เพื่อให้ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธุรกิจธนาคาร โดยแต่ละบริษัทย่อยจะมีทีมงานและมีผู้บริหารแยกออกจากกันอย่างเป็นอิสระ รวมถึงมีแผนจะดันให้บริษัทย่อยแต่ละบริษัท สามารถขายหุ้น IPO เพื่อระดมทุนและขยับมูลค่าธุรกิจรวมให้โตขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาทในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นอกจากเงินปันผลพิเศษจำนวน 30% ที่จะเกิดขึ้นทันที ดูเหมือนความคาดหวังว่าธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะสร้างกำไรแบบทันทีทันใดยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินจริง เพราะการเริ่มต้นธุรกิจใหม่จริงๆ ยังต้องใช้เวลาในการเริ่มต้น ขณะเดียวกันธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว เมื่อถูกจับแยกออกมาก็เป็นเพียงเรื่องของการย้ายตัวเลขผลการดำเนินงานรวมออกมาให้เห็นเป็นตัวเลขเดี่ยวเพียงเท่านั้น ดังนั้นแล้วแฟนๆ ของ SCB ยังไม่ต้องตื่นเต้นไปนะคะ ยังมีเวลาให้เก็บของกันอีกนานเจ้าค่ะ
 

*** ราคาหุ้น Non-Bank อย่าง SAWAD MTC TIDLOR KTC AEONTS THANI และ AMANAH ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากการแตกหน่วยธุรกิจออกมาเป็นบริษัทย่อยของ SCB อยู่ไม่น้อย เนื่องภายหลังจากการประกาศแตกหน่วยธุรกิจของ SCB จะมีธุรกิจใหม่หลายตัวจะกลายมาเป็นคู่แข่งโดยตรงกับหุ้นในกลุ่มที่ว่ามา เริ่มจาก Card X ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต Alpha X ธุรกิจปล่อยสินเชื่อสำหรับรถหรู Auto X ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ลีซซิ่ง เน้นกลุ่มรากหญ้า และ AISCB บริษัทที่ร่วมมือกับ AIS ทำสินเชื่อผ่านทาง Digital Platform ซึ่งที่ว่ามานี้ยังไม่รวมไปถึงพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของ SCB ที่มีมูลค่า 2.3 แสนล้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน
 

แน่นอนว่าผลกระทบในระยะสั้นจากปัญหาเรื่องของความเชื่อมั่น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับบริษัทใหญ่ ที่มีทุนหนากว่าย่อมต้องมีอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่านอกจากความชำนาญในธุรกิจเฉพาะด้านที่สั่งสมมานาน ก็ยังมีเรื่องของจำนวนสาขาที่ถืกว่าตำแหน่งอยู่ใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นเรื่องที่บริษัทใหญ่ยังทำไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจะใช้จังหวะนี้ในการเก็บของเพื่อเล่นรอบ ก็น่าสนใจไม่น้อย หรือถ้าหากจะถือไปยาวก็พิจารณาเป็นรายตัวกันไป ไม่จำเป็นต้องกังวลให้มาก..โอกาสใหม่ๆ มันมีอยู่เสมอเจ้าค่ะ

 *** ดูเหมือนว่าการที่ราคาหุ้นของ EE ถูกไล่ราคาขึ้นมา มันน่าจะมีกระบวนการจัดการในแบบสูตรสำเร็จที่น่าสนใจดีเหมือนกัน โดยเกมนี้เริ่มต้นจากข่าวการรับรู้รายได้จากการขายโรงไฟฟ้าขนาด 1.24 พันล้าน ที่น่าจะจบเรื่องไปตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม แต่สุดท้ายก็มามีข่าวว่าจะจบในเดือนกันยายน และตามมาด้วยเรื่องที่สาวสวยอย่าง “อรอร อัครเศรณี” ได้ซื้อหุ้นบิ๊กล็อตจำนวน 563 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 20.26 % ราคาสูงสุดถึงหุ้นละ 1.69 บาท จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่จำนวน 25 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.92 % ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด
 

แน่นอนว่าการที่ราคาหุ้นของ EE ขยับราคาขึ้นมาไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่เจ๊เมาธ์สงสัยคือ เรื่องการซื้อการขายหุ้นบิ๊กล็อตแบบเดียวกันนี้ ถูกนำเอามาเป็นสตอรี่เพื่อดันราคาหุ้นได้ตลอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีตัวเลขผลการดำเนินงานแปลกๆ ก็ยิ่งง่ายต่อการทำราคา เอ...มีใครพอที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างหรือเปล่าค่ะ เจ๊เมาธ์อยากรู้เรื่องบ้างเจ้าค่ะ
 

*** น่าสนใจว่า Platform Tech Startup ด้านวรรณกรรม อ่าน-เขียน นิยาย การ์ตูน หนังสือออนไลน์ เริ่มได้รับความสนใจจากนักอ่านนวนิยายรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการที่จะถือหนังสือเดินทางไปไหนมาไหนให้หนักมือ โดยล่าสุด บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) หรือ GLORY ก็ได้แสดงความจำนงค์ในการระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เพื่อต่อยอดในการพัฒนา Digital platform ที่ชื่อว่า Kawebook โดยล่าสุด ก.ล.ต.ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่งไปแล้วเรียบร้อย 
 

เจ๊เมาธ์เชื่อว่าถ้าหาก GLORY ได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะมีบริษัท Tech Startup อีกจำนวนมากสนใจที่จะระดมทุนผ่านการขายหุ้น IPO อีกเช่นกัน นั่นก็เพราะว่าตลาด Startup มันยังกว้างมาก ดังนั้น การเข้ามาของ GLORY ในครั้งนี้จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง 
 

จับตาดูให้ดีนะคะ ของดีๆ “ใครจับได้ก่อนก็จะได้เปรียบกว่า” นั่นเองค่ะ
 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,717 วันที่ 26 - 29 กันยายน พ.ศ. 2564