Human Moment เคล็ดลับ การบริหารทีม

18 ก.ย. 2564 | 21:48 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ในโลกธุรกิจอะไรคือความแตกต่างระหว่างธุรกิจที่สามารถเติบก้าวหน้าได้กับธุรกิจที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด Jeanet Wade ผู้เขียนหนังสือ The Human Team ของสำนักพิมพ์ Forbes Books วิเคราะห์ว่าความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับว่าคนที่ทำงานในธุรกิจนั้นทำได้ดีเพียงใด และผลการปฏิบัติงานของพนักงานจะดีหรือไม่ มักจะถูกโยงไปถึงเป็นผู้นำไม่ว่าผู้นำบริษัทจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

 

ขณะที่เมื่อทีมล้มเหลวและพนักงานแยกย้ายกันไป ผู้นำมักไม่ตั้งคำถามกับกลยุทธ์ของตนเอง แต่กลับโทษผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกลยุทธ์เหล่านั้น โดยอาจบอกว่าคนเหล่านั้นไม่เหมาะกับงาน หรือเป็นพวกขี้บ่นและล้มเหลว แต่แท้จริงแล้วกว่า 80% ของความล้มเหลวไม่ได้เป็นเพราะคนที่ทำงานเหล่านั้นไม่มีความเหมาะสมกับงาน

 

แต่เป็นเพราะว่าผู้นำไม่ได้เตรียมที่จะจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า “ช่วงเวลาแห่งความเป็นคนหรือ Human Moments” หรือความต้องการพื้นฐานในฐานะความเป็นมนุษย์ เพราะผู้นำเหล่านั้นไม่เข้าใจและไม่ได้แก้ปัญหาความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งมี 6 ด้านดังนี้

 

ความชัดเจน (Clarity) ในที่ทำงานจำนวนมาก คนไม่แน่ใจว่าบริษัทคาดหวังอะไรจากพวกเขา หรืองานของพวกเขาจะเข้ากับแผนงานที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างไร โดยคนในทีมต้องการความชัดเจนอย่างมาก มิฉะนั้นพวกเขาจะสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในทีมต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของทีม บทบาทของตนภายในทีม เป้าหมายตามผลลัพธ์ของทีม

 

การเชื่อมโยง (Connection) การมีความเชื่อมโยงกันของมนุษย์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับทีมที่ดี และต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมหลักร่วมกัน สถานที่ทางกายภาพ และวัฒนธรรมองค์กร สิ่งสำคัญ คือ วิธีการสร้างความเชื่อมโยง วิธีหนึ่งที่แนะนำคือกิจกรรม 3-2-1

Human Moment เคล็ดลับ การบริหารทีม

โดยขอให้คนในทีมเล่า 3 เหตุการณ์ที่เคยประสบมา วิธีที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์เหล่านั้น และผลกระทบต่อพวกเขา หลังจากนั้นให้เล่าเรื่องราวในวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่ผ่านมา 2 เรื่อง และสุดท้ายให้บอกหนึ่งในความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาให้กับคนอื่นๆ ได้ฟัง เป็นต้น

 

การมีส่วนร่วม (Contribution) ทีมภายในองค์กรไม่ควรมีจำนวนเกิน 15 คน และทีมผู้นำควรมีขนาดเล็กกว่านั้น เหตุผลเนื่องจากยิ่งทีมมีขนาดใหญ่เท่าใด แต่ละคนก็จะยิ่งมีส่วนร่วมน้อยลงเท่านั้น ทั้งนี้หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ในฐานะผู้นำคือการยอมรับว่าจิตใจของมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการมีส่วนร่วมและได้รับรางวัล

 

ความท้าทาย (Challenge) ผู้นำและผู้บริหารมักลังเลที่จะท้าทายคนอื่น แท้จริงแล้วสามารถทำได้ โดยไม่ต้องกดดันหรือทำให้พวกเขาอึดอัด เพราะหากละเว้นโอกาสที่จะท้าทายคนแล้ว ก็เท่ากับปฏิเสธความต้องการที่สำคัญของมนุษย์คนอื่น เคล็ดลับคือต้องแน่ใจว่าความท้าทายนั้นได้ผล ซึ่งพวกเขาควรจะรู้สึกว่ามันยาก แต่ไม่มากเกินไปจนต้องถอนตัวหากทำไม่ได้

 

การเอาใจใส่ (Consideration) ทุกคนรู้สึกว่าจำเป็นต้องได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่า น่าเสียดายที่ผู้นำและผู้บริหารมักใช้เวลาไปมากกับคนมีมลพิษ (Toxic People) องค์กรจะไม่สามารถหาและรักษาคนเก่งเอาไว้ได้ หากไม่แสดงความเคารพและเอาใจใส่พวกเขาในทุกขั้นตอนของการทำงาน

                     

เนื่องจากพวกเขาต้องการได้รับการยอมรับจากผลงานที่ดี การเลื่อนตำแหน่ง และตอกย้ำว่าพวกเขามีความสำคัญต่อองค์กรเพียงใด ความมั่นใจ (Confidence) ความมั่นใจเป็นสิ่งที่เปราะบางและสามารถสั่นคลอนได้ง่าย

 

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องปลูกฝังความมั่นใจในทีม เพราะคนที่กลัวความล้มเหลวจะลังเลใจ หลีกเลี่ยงความท้าทายที่ยุ่งยาก และมีประสิทธิผลน้อยลง แต่หากคนมีความมั่นใจ เรื่องยากก็ดูไม่น่ากลัวเลย

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,715 วันที่ 19 - 22 กันยายน พ.ศ. 2564