จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าของเหมืองหยก (10)

13 ก.ย. 2564 | 01:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

และแล้วการจดทะเบียนสมรสของคุณสุวรรณีที่ประเทศเมียนมา ก็สำเร็จเสร็จสิ้นลงไป ทำให้ทั้งสองหนุ่มสาวสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆนาๆไปได้ด้วยดี แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะจดทะเบียนที่ฝั่งโน้นสำเร็จ แต่พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ยังต้องมาดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้เสร็จสมบูรณ์ด้วย จึงจะสามารถเป็นทองแผ่นเดียวกันได้ ซึ่งก็มีคู่บ่าว-สาวหลายๆ คู่ที่ผมเคยพบมา บางคู่ที่ไม่เข้าใจกฎหมายดีพอ มักจะละเลยไม่ได้ใส่ใจกับพิธีการดังกล่าว จึงนำพาซึ่งความยุ่งยากในอนาคตตามมาอีกมากมาย
 

โชคดีที่คุณสุวรรณีเป็นคนที่มีการศึกษาที่ดี จึงได้เข้าใจในบริบทของขบวนการทางกฎหมายพอใช้ได้ เธอจึงจำเป็นต้องกลับมาจัดการเรื่องนี้ที่กรุงเทพฯภายใน 15 วัน หลังจากจดทะเบียนสมรสในประเทศเมียนมา มิเช่นนั้นถ้าทิ้งไว้เนินนานจนเกินกำหนดเวลา ก็จะไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนในประเทศไทยต่อได้
 

คุณสุวรรณีเล่าว่า การดำเนินการจดทะเบียนครั้งนั้น เธอได้นำเอาใบทะเบียนสมรสที่ได้จดแจ้งไว้ที่ประเทศเมียนมา (ซึ่งเป็นใบที่ใหญ่มาก) ไปแปลเป็นภาษาไทยที่กรมการกงศุล กระทรวงต่างประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้และห้ามทำหายเด็ดขาด คือ “ใบเสร็จรับเงิน” เพื่อนำไปยื่นยันเป็นเอกสารประกอบในขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนสมรสในกรุงเทพฯ

ซึ่งอันที่จริงแล้ว เธอจะไปจดแจ้งที่เขตใหนก็ได้ ขอเพียงให้อยู่ภายในราชอาณาจักรไทย  ก็สามารถดำเนินการที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่ในส่วนของเธอนั้น เธอได้ไปจดทะเบียนที่เขตที่ตั้งของสถานที่อยู่ของเธอที่กรุงเทพฯ จากนั้นจึงนำเอาใบเสร็จรับเงินพร้อมทั้งใบสมรสเมียนมาที่แปลเป็นภาษาไทย ไปยื่นขอใบทร.22 (ทะเบียนสถานะแห่งครอบครัว 22) เพื่อนำไปที่กรมตรวจคนเข้าเมือง เพื่อจะได้ยื่นขอ Visa Non O หรือวีซ่าคู่สมรสให้แก่สามีของเธอ
 

ซึ่งต้องบอกว่าไม่ง่ายเลย เพราะทางการไทยจำเป็นจะต้องตรวจสอบสถานะทางการเงินและความสามารถในการเลี้ยงดูครอบครัวของฝ่ายชาย และฝ่ายชายจะต้องเป็นบุคคลที่มีงานการทำในประเทศไทย และจะต้องมีหนังสือรับรองการทำงานที่มี Work permit ซึ่งมีรายได้ที่เป็นเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทขึ้นไป หรือถ้าหากไม่มีเอกสารดังกล่าว จะต้องมีเงินฝากไม่ต่ำกว่า 400,000 บาทเป็นเวลาสามเดือนเป็นอย่างต่ำ
 

เงินดังกล่าวจะต้องนำมายืนยันในวันขอวีซ่าและหรือวันต่ออายุทุกครั้ง จึงจะสามารถขอดำเนินการทำ Visa Non O หรือวีซ่าคู่สมรสได้โดยไม่ขัดข้องใดๆ จึงจะทำให้สามีของเธอพักนักอยู่ในประเทศไทยได้ต่อไป อีกทั้งหากมีการไปต่อวีซ่าคู่สมรสทุกปีตลอด 5 ปีที่สามีเธอพำนักอยู่ในประเทศไทยจนครบทุกครั้งแล้ว ก็ยังสามารถที่จะยื่นขอสัญชาติให้แก่คู่สมรสได้ตามกฎหมายนั่นเอง
 

เมื่อได้มีการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายของทั้งสองประเทศอย่างสมบูรณ์แล้ว การเข้าออกประเทศทั้งสอง ก็สามารถเดินทางได้สะดวกปลอดภัย แต่ทุกครั้งที่เดินทางต้องทำใบ Re Entry ทุกครั้งไป ทำให้เธอและสามีสามารถที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างสะดวก จากนั้นเธอจึงเริ่มต้นโลดแล่นทางธุรกิจของเธอในทันที

เมื่อเธอกลับไปที่บ้านเกิดของสามี สิ่งที่เธอต้องทำคือการเสาะแสวงหาซื้อหยกดิบที่เป็นก้อนหิน หรือที่เรียกว่า “ก้อนหินหยก” นั่นเอง แล้วจึงนำมาผ่าแปรรูปขายต่อไป เธอเล่าว่าที่เมืองมิจีน่า รัฐกระฉิ่น มีตลาดต่าต้าเซ หรือตลาดที่อยู่ใกล้ๆสะพาน ซึ่งจะเป็นแหล่งที่พ่อค้าหยกไม่ว่าจะเป็นชาวท้องถิ่น หรือชาวเมืองมัณฑะเลย์ ชาวเมืองย่างกุ้ง อีกทั้งพ่อค้าชาวจีนที่มาจากทั้งในแผ่นดินใหญ่ และชาวฮ่องกง ต่างหลั่งไหลกันมาซื้อหาก้อนหินหยกกันที่นี่
 

พอเข้าไปภายในตลาดก็จะพบเห็นร้านค้าที่เต็มไปด้วยกองก้อนหินหยก ที่มีทั้งก้อนเล็กทั้งก้อนใหญ่เต็มไปหมด หากมองเผินๆก็คิดว่าเป็นหินก่อสร้างหรือหินประดับบ้าน แต่ถ้าสังเกตุดีๆก็จะพบเห็นพ่อค้าและคนที่มาซื้อก้อนหินหยก ต่างถือไฟฉายที่ใช้ดูเพชรพลอยอยู่ในมือกันเกือบทุกคน พอพบเห็นก้อนหินหยกที่พึงพอใจ ก็จะใช้ไฟฉายส่องไปที่หินนั้น เพื่อดูแสงสีเขียวที่สว่างตามแสงของไฟฉาย แล้วจึงเริ่มตีราคาค่างวดของหินหยกนั้นกัน
 

เธอบอกว่าการต่อรองราคากันดุเดือดเลือดพล่านมาก บ้างครั้งต่อรองกันเกินกว่าครึ่งก็มี ดังนั้นคนที่มีประสบการณ์ย่อมซื้อหาได้ในราคาที่ย่อมเยากว่าคนด้อยประสบการณ์เยอะมาก  
 

ในช่วงแรกที่เริ่มทำการค้าหยกด้วยการไปหาซื้อมาจากตลาดต่าต้าเซ เริ่มที่จะดำเนินไปด้วยดี แต่ความต้องการของมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเธอ ย่อมมีความอยากได้ใคร่มีอยู่ภายใต้จิตใต้สำนึกอยู่ตลอดเวลา เมื่อเริ่มนับหนึ่งย่อมมีการนับสอง สาม สี่ ตามมาเสมอ จึงทำให้เธอต้องรบเร้าสามีให้พาเธอขึ้นไปบนแหล่งภูเขาปะกั่น ที่ทุกคนแห่กันเข้าไปขุดหยกกัน
 

ชีวิตของเธอจึงเริ่มที่จะเพิ่มสีสรรของชีวิตอย่างสนุกสนานกับการแสวงหาความมั่งคั่งจึงได้เริ่มขึ้น โปรดติดตามชีวิตอันโลดโผนของสาวน้อยคนนี้ต่อไปในอาทิตย์หน้าครับ