รัสตาฟารี ราชสีห์แห่งยูดาห์ ตอนที่ 3

14 ส.ค. 2564 | 04:09 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

จักรพรรดิไฮลี่ ซาลาซซี่ แห่งเอธิโอเปีย ทรงพยายามพลิกโฉมหน้าของประเทศให้ทันสมัยพระองค์เข้าใจความลัทธิจักรวรรดินิยมเปนอย่างดี เสด็จออกนำเอธิโอเปียร่วมสันนิบาตโลก ในฐานะราชาแห่งราชันย์ทรงรับเสด็จ/รับประมุขผู้นำแอฟริกันทุกชาติทุกเผ่า พระวรกายสันทัดพระเกศาหยิกหยักศกแสดงเผ่าพันธุ์ยูดาห์ชัดเจนเมื่อเทียบกันกับผู้นำผิวสีของประเทศต่างๆในแอฟริกา

 
ทรงคำนึงถึงคำสอนเรื่องราชสีห์แห่งยูดาห์ที่ว่า เผ่าพันธุ์ของยูดาห์นั้น ผู้นำเปนดั่งราชสีห์ต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มภัยแก่อาณาประชาราษฎร เปนราชสีห์ที่มีชัย
 

ภาพของราชสีห์เชื่อมโยงเชื้อสายเผ่ายูดาห์และกษัตริย์ดาวิด พระเจ้าดาวิดต้นวงศ์เองก็เป็นต้นแบบของกษัตริย์ผู้มีชัยคล้ายราชสีห์ไปไหนก็ชนะสัตว์อื่นเรื่อย คราวพระเยซูเจ้ารับหน้าที่ศาสดา ท่านก็เปนพงศ์พันธุ์ของดาวิด และในทางกลับกันดาวิดเองก็เป็นพงศ์พันธุ์ของยูดาห์ พระเยซูเจ้าคราวนั้นได้ถือครองสิทธิอำนาจแห่งกษัตริย์ทางโลกผ่านทางพระสัญญาที่ทรงมีต่อเผ่ายูดาห์และพระเจ้าดาวิด ทรงเอ่ยว่า ยูดาห์เปนลูกสิงโต ธารพระกร (ไม้เท้า_ในฐานะเครื่องราชกกุฏภัณฑ์) จะไม่ขาดไปจากยูดาห์ และมาครานี้ต้องทรงทำหน้าที่เฉกเช่นเดียวกัน ในสร้อยพระนามาภิไธยจึงมีคำสร้อยว่า ราชสีห์แห่งยูดาห์ สนธิเข้าประกอบด้วยเสมอ

ภาพพระกษัตริย์ศาสดามหาไถ่ที่จะมาจากเผ่ายูดาห์ในฐานะกษัตริย์ผู้ทรงมีชัยชนะถูกพยากรณ์ไว้ทั้งในหนังสือเล่มแรกและเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์เปนแกนเรื่องที่สอดคล้องกับว่า สีหกษัตรา หรือ กษัตริย์ราชสีห์นั้นเปนที่ นับถือเชื่อฟังของยิวยูดาห์มาแต่นานนม
 

แต่ใครเลยจะรู้ว่า ศาสดาแต่ละองค์นั้นเปน ทรงเปนผู้รับใช้ที่ทุกข์ทนพร้อมกันกับการมีชัยชนะ อุปมาของพระเปนเจ้าท่านว่า เปนทั้งสีหะแลลูกแกะ (ไถ่บาป)
 

แน่นอนว่าทรงมีสวนสัตว์ส่วนพระองค์และทรงเลี้ยงสิงห์โตพ่วงพีไว้หลายตัว ตามประสาเทวราชาผู้ซึ่งสัตว์ร้าย_beast ต้องยอมสยบภักดี สิงห์โตทรงเลี้ยงเหล่านี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้แห่ตามเสด็จในขบวนพระราชพิธีต่างๆด้วย โดยยืนแท่นบนราชรถและสวมสร้อยกุญแจรัดข้อเท้า สำแดงภาพราชสีห์แห่งยูดาห์
 

ทรงพระกรุณาปรับตั้งธงชาติแห่งเอธิโอเปียเปนแถบสี เขียว เหลืองแดงและเชิญตราราชสีห์แห่งยูดาห์ (ซึ่งนัยยะนี้หมายถึงองค์ท่านเอง) ประดิษฐานเสียบนธงชาตินั้น แถบสี เขียว/เหลือง/แดงนี้เองที่ต่อมา เหล่าบุคคลผู้นับถือเทิดทูนพระองค์ท่านในฐานะพระศาสดาของศาสนากษัตริย์นั้นนำมาใช้กับตัวของพวกเขาผ่านเครื่องแต่งกาย ผ้าโพก เครื่องประดับต่างๆในวิถีชีวิตประจำวัน  
 

ยามเมื่อผู้คนต่างถิ่นเห็นแถบสีนี้ใช้กันในหมู่ชาวเรกเก้ อย่างเช่น บ็อบมาลีย์พระเอกต้นเรื่องของเราเอามาใช้โดยนับถือ ถามเข้าว่า สีแถบนี้คืออะไร อย่างไร ? ก็คงได้คำตอบว่าอ้อ รัสตา/รัสตาฟารี ดังนี้ จึงใช้เรียกขานกันต่อมาโดยครอบคลุมไปถึงตัวท่านศาสดา พระองค์ ตาฟรี และมิได้จำกัดอยู่เพียงแถบสีสามสีนี้นั้น 

คนนอกก็จำมาใช้กันแพร่หลาย คล้ายพวกฝรั่งออกเดินทางสำรวจโลกผ่านหลวงพระบางมาถึงกรุงเทพพระมหานคร มือชี้ไปที่ไม่น้ำเจ้าพระยาแล้วถามคนไทยแถวนั้นว่า “นี่ (ชื่อ)อะไร?” คนไทยก็ตอบให้โดยซื่อตรงว่า‘แม่น้ำ’ จึงปรากฏในแผนที่ฝรั่งโดยเฉพาะฝรั่งเศสทำจากบัดนั้นมาจนบัดนี้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาฝรั่งเขียนว่า Mae Nam River 
 

พระจักรพรรดิไฮลี่ ซาลาซซี่ รัสตาฟารี พระองค์นี้ยามสงครามโลกเคยต้องทรงนิราศหลุดบัลลังก์ไปครั้งหนึ่งด้วยอิตาลีเข้ายึดครองเอธิโอเปียได้เปนอาณานิคม ทรงต่อต้านอิตาลียุคนั้นโดยเสด็จไปกล่าวถ้อยแถลงยังสันนิบาตโลก ซึ่งเขาว่าเปนต้นสายพัฒนาการแห่งสมัชชาสหประชาชาติบัดเดี๋ยวนี้เปนวิถีทางการทูต สิ้นสงครามจึงได้กลับมาทรงบัลลังก์อีกครั้ง แต่ต้องทรงเผชิญกับการรัฐประหารของเหล่าเสนาอำมาตย์ จับพระองค์ไปกุมขังอยู่ในปราสาทตลอดยาวนานทั้งรัชสมัย ด้วยไม่กล้าจะลงไม้ลงมือกับพระองค์ท่านผู้กุมพลังลึกลับในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้พิทักษ์ศรัทธาแห่งศาสนา ก็พระปรมาภิไธย ไฮลี่ ซาลาซซี่นั้นเองแปลว่าพระตรีเอกนุภาพ Trinity พระบิดา พระบุตรและ พระจิต ตามหลักศาสนา ใครกล้าก็ต้องเปนคนนอกรีต 
(ต่อตอน 4)

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 17 ฉบับที่ 3,705 วันที่ 15 - 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564