เยียวยาล็อกดาวน์ ต้องไม่ล่าช้าเกินไป

05 ส.ค. 2564 | 07:35 น.

บทบรรณาธิการ

     รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ในพื้นที่กทม.กับอีก 12 จังหวัดออกไปจนถึงสินเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมประกาศขยายพื้นที่ล็อกดาวน์เพิ่มอีก 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มที่มีผู้ติดเชื้อสูงมาก พร้อมกับการประกาศจ่ายเงินเยียวยาทั้งลูกจ้างและนายจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ใน 9 กลุ่มอาชีพ รวมไปถึงผู้ประกันตนอิสระตามมาตรา 39,40 ที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐอันเนื่องมาจากประกาศล็อกดาวน์ ปิดกิจการในบางกลุ่มอาชีพ

     ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบเยียวยาผลกระทบล็อกดาวน์รวม 29 จังหวัด โดย 13 จังหวัดแรกได้เยียวยาต่ออีกเดือนถึงสิ้นเดือนส.ค. ขณะที่อีก 16 จังหวัดที่เพิ่มเข้ามา มีการขยายกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 6 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่อนุมัติไว้ 3 หมื่นล้านบาท

     ใน 13 จังหวัดแรก มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3.1 ล้านคน ที่มีสัญชาติไทย จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 2,500 บาท โดยโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน นายจ้าง จำนวน 176,619 ราย จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลตามจำนวนลูกจ้างหัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้าง ไม่เกิน 200 คน ซึ่งจะนับรวมลูกจ้างทั้งสัญชาติไทยและต่างด้าว นายจ้างบุคคลธรรมดาจะได้รับการโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนเช่นกัน ส่วนนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงานประกันสังคม โดยโอนเงินรอบแรกตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนแรงงานตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้รับเยียวยารายละ 5,000 บาท

     ครม.ยังเห็นชอบให้ช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัด ที่เข้าสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่ได้ ให้สามารถรับการเยียวยาตามมาตรการนี้ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนที่ถูกต้อง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปตามความเหมาะสม สามารถยืนยันตัวตนและตรวจสอบได้

     อย่างไรก็ดี แม้ในหลักการรัฐบาลประกาศเยียวยาทันที แต่หากพิจารณาสถานการณ์ความเดือดร้อนของผู้ประกันตนเราเห็นว่ายังล่าช้าเกินไป โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ์ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมย่อมมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนอยู่แล้ว ฉะนั้นใน 16 จังหวัดที่ขยายเพิ่มขึ้นมา ไม่ควรมีการตรวจสอบที่ล่าช้าเกินไป เพื่อให้เงินถึงมือประชาชนโดยเร็ว ส่วนข้อร้องเรียนการอุทธรณ์สิทธิของทั้งองค์กรหรือในแง่บุคคลก็เช่นกัน สำนักงานประกันสังคมต้องเร่งรัดพิจารณาโดยไม่ชักช้า ไม่ควรผูกติดกับระบบราชการที่อืดอาดยืดยาดในท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน