ช่วยแบบขอไปที? ลดค่าน้ำ-ค่าไฟแบบนี้!

21 ก.ค. 2564 | 07:00 น.

คอลัมน์ทางออกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

มติคณะรัฐมนนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ด้วยการลดค่าน้ำค่าไฟให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากมาตรการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว และมาตรการ Work from Home 100% ดูจะเป็นมาตรากร “เยี่ยวไม่สุด” เมื่อเทียบกับความทุกข์ ความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแสนสาหัสในปัจจุบัน
มติ “ลดค่าไฟ” เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. - ส.ค. 2564 
มติ “ลดค่าน้ำ” เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. - ส.ค. 2564  
 

เป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน ทว่ากลับมีการกำหนดรายละเอียดไว้ยุบยับ สะท้อนวิธีคิดแบบราชการ ที่คนโบราณว่าไว้ “เสียน้อย เสียยาก เสียมากเสียง่าย” 
 

ทำไมเสียน้อย เสียยาก เสียมากเสียง่ายลองไปดูรายละเอียดกันนะครับ
 

1. ให้ “มีการลดค่าไฟฟ้า” สำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน (ก.ค.- สค. 64) 
 

กรณีแรก บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก 
 

กรณีที่สอง บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟดังนี้
(1) หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือน ก.พ. 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง
(2) หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือน ก.พ. 2564 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 2564
(3) หากใช้ไฟฟ้ามากกว่า 501 - 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 2564 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 2564 ในอัตราร้อยละ 50
(4) หากใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 2564 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 2564 ในอัตราร้อยละ 70 
ทั้งนี้ ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
 

กรณีที่สาม สำหรับกิจการขนาดเล็กให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
 

กรณีที่สี่ หากเป็นกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค 2564
 

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ยังได้ลงมติตรึงค่า FT ประจำงวด ก.ย. - ธ.ค. 2564 ลง 15.32 สตางค์ เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ไม่ให้ถูกซ้ำเติมจากเชื้อเพลิงขาขึ้น
 

2.ให้ “มีการลดค่าน้ำประปา” ลง 10% สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ระยะเวลา 2 เดือน ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. - สค. 2564 
 

การช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคแบบนี้แหละครับ ที่ผมบอกว่า…. ช่วยแบบ ไม่ช่วย & ช่วยแบบ ขอไปทีใช่มั้ย? 
 

เพราะมติลดค่าสาธารณูปโภคที่ออกมานั้นแทบจะ 90% เป็นการลอกมาตรการที่ครม.เคยอนุมัติลดค่าน้ำค่าไฟ มาบังคับใช้ในภาวะที่รัฐจะงัดมาตรการบรรเทาทุกเพื่อเรียกคะแนนนิยมแทบทั้งสิ้น เสมือนกับไม่มีวิกฤต... 
 

หลงลืมไปว่า ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนไทยนั้น เป็นตัวสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ชัดเจนที่สุด ผลการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนไทย จากฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่สถาบัน ป๋วย อึ้งภากรณ์ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สำรวจการใช้ไฟฟ้าด้วยมิเตอร์ไฟฟ้ากว่า 16 ล้านมิเตอร์ เป็นฐานข้อมูล บอกเราเช่นนั้น 

กล่าวคือ โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนในเขต กฟภ. ใช้ไฟฟ้าอยู่ราว 90-140 หน่วยต่อเดือน (หรือเท่ากับ 3-4 หน่วยต่อวัน) และเทียบเท่ากับค่าไฟฟ้าประมาณ 253-414 บาทต่อเดือน คนเหล่านี้คือชาวบ้านทั่วไปในระดับจังหวัด และที่ผ่านมารัฐก็มีนโยบายให้คนที่ใช้ไปต่ำกว่า 90 หน่วยต่อเดือนแทบจะฟรีอยู่แล้ว
 

เพราะ “ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย” ที่จะได้สิทธิ์ใช้ไฟฟรี 90 หน่วยแรกตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น จะเป็นผู้ใช้ไฟประเภท 1.1.1 เขาเรียกว่า “ผู้ใช้ไฟด้อยโอกาส” ตามมตรา 97 (1) ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และมีหน่วยการใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน โดยภาระค่าไฟเขาจะกระจายไปให้อีก 7 ประเภทรับภาระตามสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าแทน 
 

คนกลุ่มนี้ฟรีมาพักใหญ่แล้ว เพียงแต่รอบนี้ มติครม.เขาขยายออกไปให้รวมไปถึงบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ใหญ่กว่านี้ แต่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ได้รับสิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรกด้วยเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่ามีน้อย แต่กระจายอยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ 
 

ค่าไฟของคนกลุ่มนี้เขาไต่ระดับอยู่ตรงนี้ 15 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-15 ) หน่วยละ 1.8632 บาท 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16-25) หน่วยละ 2.5026 บาท 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26 – 35) หน่วยละ 2.7549 บาท 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 3.1381 บาท 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101 -150) หน่วยละ 3.2315 บาท และต้องจ่ายค่าบริการอีกเดือนละ 8.12 บาท 
 

แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่เดือดร้อนเป็นคนกลุ่มไหนครับ เป็นคนที่มีบ้านอยู่อาศัยของคนเมืองส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้ากันตั้งแต่ 150- 1,000 หน่วยต่อเดือนแทบทั้งสิ้น และคนเหล่านี้จะถูกคิดค่าไฟแบบชั้นบันได้แบบนี้ ครับ  
 

150 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-150 ) หน่วยละ 2.7628 บาท 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400 ) หน่วยละ 3.7362 บาท ถ้าเกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 3.9361 บาท และต้องจ่ายค่าบริการอีก 38.22- 312.24บาทต่อเดือน 
 

ประการต่อมา ผลการสำรวจพบว่า การใช้ไฟฟ้ามีระดับสูงที่สุดในเขตอำเภอเมืองของทุกจังหวัด เขตอำเภอเมืองของจังหวัดที่มีทางหลวงเส้นหลักตัดผ่าน เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี เขตจังหวัดรอบกรุงเทพฯ และบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก มีการใช้ไฟฟ้าต่อมิเตอร์สูงกว่าบริเวณอื่น   
 

ข้อมูลไฟฟ้าของภาคครัวเรือนในเขต กฟภ. พบว่ามิเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดร้อยละ 10 ใช้ไฟฟ้ารวมกันถึงร้อยละ 40 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด
 

แสดงว่าคนเมืองเป็นคนที่ไฟฟ้าสูงสุด มาตรการของรัฐในการออกมาตรการจึงต้องพิจารณาในภาพรวมให้ได้ 
 

เพราะมาตรการของรัฐบาลในการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านมาตรการให้ประชาชน “Work From Home 100%” นั่นคือการสร้างภาระให้กับประชาชนอย่างมาก เพราะต้องใช้ไฟฟ้า ใช้นำเพิ่มขึ้นจาการกักตัวเองตามนโยบายของรัฐบาล 
 

ถ้าไม่เชื่อผม นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปสอบถามประชาชนแต่ละคนได้เลยครับ...ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าขึ้นพรวดพราดเกิน 100% แทบทุกราย..แต่ที่ลดลงนั้นจิ๊บจ๊อย

ทำไมไม่เอาแบบนี้ครับ ค่าไฟฟ้าในทุกครัวเรือนของประเทศ หากไม่ถึง 1,000 บาท ให้ใช้ไฟฟ้าฟรีทุกครัวเรือน จะได้เหมารวมการช่วยเหลือทั้งในพื้นที่ตจว.และพื้นที่เมืองคราวเดียวกัน 
 

ต่อมาครัวเรือนไหนใช้ไฟฟ้าส่วนที่เกินจาก 1,000 บาท เป็นต้นไปจนถึง 5,000 บาท ให้คิดค่าไฟฟ้า 50% 
 

ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โรงงานอุตสาหกรรม จะลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการทุกราย 40-50% จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในช่วงที่กำหนด 
 

ค่าน้ำก็เอาแบบนี้ ประชาชนจะได้เข้าใจตรงกัน การลดช่วยเหลือแบบไม่เข้าใจนั้นมันลำบาก ค่าไฟที่ลดลงนั้นก็แล้วแต่ว่า การไฟฟ้า 2 รายจะเป็นคนแจ้งในบิลให้กับประชาชน ไม่มีใครรู้ว่าตกลงที่แท้จริงนั้นลดจำนวนเท่าไหร่
 

การไฟฟ้านครหลวง แจ้งงบการเงินล่าสุดประจำงวด 9 เดือน (สิ้นสุด 30 ก.ย. 2562 สตง.สอบทานแล้ว) มีรายได้รวม 157,085 ล้านบาท เป็นรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า 153,804 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 148,728 ล้านบาท เป็นค่าซื้อพลังงานไฟฟ้า 132,309 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน 7,386 ล้านบาท ค่าตอบแทนผู้บริหาร 29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,405 ล้านบาท    
 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งงบการเงินล่าสุดประจำงวด 6 เดือน (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2562 สตง.สอบทานแล้ว) มีรายได้รวม 263,526 ล้านบาท เป็นรายได้จากการขายและการให้บริการ 262,652  ล้านบาท มีรายจ่าย  250,796  ล้านบาท จำแนกเป็นค่าซื้อไฟฟ้า 220,041  ล้านบาท ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงาน 595 ล้าน บาท ค่าตอบแทนผู้บริหาร 73 ล้านบาท กำไรสุทธิ 12,740 ล้านบาท 
 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจ้งงบการเงินล่าสุดประจำงวด 9 เดือน (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 สตง.สอบทานแล้ว) มีรายได้รวม 426,168 ล้านบาท เป็นรายได้จากการขายไฟฟ้า 424,037 ล้านบาท มีรายจ่ายเป็นต้นทุนขายไฟฟ้า 364,207 ล้านบาท ต้นทุนการขายสินค้าและบริการอื่น 1,077 ล้านบาท กำไรสุทธิ 35,561 ล้านบาท  
 

ส่วนการประปา 2 รายที่ช่วยประชาชนด้วยการลดค่าน้ำก็ไปกันใหญ่ ลด 10% ไม่กี่ร้อยบาท... 
 

การประปานครหลวง (กปน.) ที่จำหน่ายน้ำประปา ให้กับผู้ใช้งานอยู่กว่า 3 ล้านราย ในปี 2561 รายได้ 19,203 ล้านบาท กำไร 7,519 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 20,012 ล้านบาท กำไร 7,003 ล้านบาท
 

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำหน่ายน้ำประปา ให้กับผู้ใช้งาน 4.6 ล้านราย ในปี 2561 รายได้ 27,000 ล้านบาท กำไร 3,745 ล้านบาท พอถึงปี 2562 รายได้ 28,323 ล้านบาท กำไร 4,472 ล้านบาท
 

การลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนนั้น ไม่ได้ทำให้รัฐวิสาหกิจต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หรือ ขาดทุนจนเดินหน้าไปไม่ได้แต่อย่างใด พิจารณาได้จากรายได้ทางธุรกิจในกิจการสาธารณะที่บังคับใช้ เป็น Public Goods และไร้คู่แข่งในธุรกิจครับนายท่าน!