กันตพร หาญพาณิชย์ ทายาทรุ่น 2 สานต่ออาณาจักร BCH

02 ก.ค. 2566 | 07:25 น.

“ไม่เชื่อทางลัดที่เขาบอกว่า ความสำเร็จ ความร่ำรวย สามารถเกิดขึ้นได้เพียงข้ามคืน แต่ทุกอย่างต้องใช้ความพยายาม”

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของ “บางกอก เชน ฮอสปิทอล” หรือ BCH ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ที่ปัจจุบันนั่งเป็นประธานบริหารบริษัท ถูกส่งไม้ต่อให้กับทายาทรุ่นที่ 2 “กันตพร หาญพาณิชย์” ที่มาสานต่อสร้างอาณาจักร BCH ให้แข็งแกร่ง

ปัจจุบันบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH  มีโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้การดูแล 14 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และกลุ่มโรงพยาบาลการุญเวช  และ 1 แห่งในสปป.ลาว

พีท - กันตพร หาญพาณิชย์

แม้ผลการดำเนินงานในปี 2565 จะมีรายได้รวม 18,910 ล้านบาท ลดลง 12.2% จากปัจจัยในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สอดรับกับการฟื้นตัวของสถานการณ์การแพร่ระบาด มีกำไรสุทธิ 3,038 ล้านบาท ลดลง 55.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุมาจากการปรับลดอัตราการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากภาครัฐที่เกี่ยวกับโควิด-19  ขณะที่รายได้ผู้ป่วยทั่วไปเพิ่มขึ้น 25.4% จากการกลับเข้ามารักษาพยาบาลปกติที่เพิ่มขึ้นทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ หรือที่ใครๆ เรียกว่า “หมอเฉลิม” ที่ต้องการยกระดับการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งการขยายการลงทุนในโรงพยาบาลพื้นที่ต่างๆ การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงพยายาลเดิม รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์การดำเนินงานใน 5 ปีข้างหน้า จึงเดินหน้าภายใน 4 กลยุทธ์ได้แก่

1. การขยายโรงพยาบาลในเครือเพิ่มขึ้น 5 แห่ง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้แก่ 1.ศูนย์มะเร็งรังสีรักษา เกษมราษฎร์อารี จ.นนทบุรี งบลงทุน 300 ล้านบาท จะเปิดดำเนินการภายในไตรมาส 1 ปี 2567

2.โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ งบลงทุน 1,600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2567 และเปิดให้บริการภายในปี 2569 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาหาทำเลที่มีศักยภาพ อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งที่พัทยา จ.ชลบุรี และระยอง

พีท - กันตพร หาญพาณิชย์

2.การยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งเดิมและปรับปรุงพื้นที่ใช้สอย การเพิ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง การยกระดับเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย 

3.กลยุทธ์การเสนอบริการทางการแพทย์เฉพาะกลุ่มและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ทั้งสำหรับคนไข้ทั่วไปและ คนไข้โครงการประกันสังคม

4.การเข้าร่วมสัญญาการให้บริการด้านการแพทย์  กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

พีท - กันตพร หาญพาณิชย์” เป็น 1 ใน 3 ทายาทของนพ.เฉลิม ปัจจุบันนั่งเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)” รับหน้าที่บริหารงานด้านการตลาด ในขณะที่พี่สาวจบแพทย์ และน้องสาวจบด้านการเงิน เพื่อมาสานต่อธุรกิจครอบครัวเช่นกัน เรียกได้ว่า 3 เสา 3 แรงที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจโรงพยาบาลเติบโต

การบริหารการตลาดโรงพยาบาลเอกชน “กันตพร” ยอมรับว่า “ท้าทายอย่างมาก” เพราะการแข่งขันของเอกชนในประเทศไทยสูง แต่ไม่กังวล เพราะหัวใจของการแข่งขัน ไม่ได้แข่งกันเรื่อง “ราคา” แต่แข่งในเรื่อง “บริการ” เพราะธุรกิจโรงพยาบาล เกี่ยวข้องกับ “ศรัทธา” คนจะยอมจ่ายเงินเท่าไรก็ได้ เพื่อรักษาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ และได้รับบริการที่มีคุณภาพ

“โรงพยาบาลเอกชนต้องที่มีชื่อเสียงในการรักษาโรคเฉพาะด้าน ก็จะดึงดูดคนไข้จากต่างประเทศเดินทางมารักษาได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ในเครือ  BCH โดดเด่นในการใช้เทคโนโลยีรักษาเบาหวาน ก็จะมีกลุ่มคนไข้ “ชาวอาหรับ” มารักษาจำนวนมาก เพราะพวกเขาป่วยเบาหวานจากวัฒนธรรมอาหารการกินที่หวานจัด เมื่อมารักษาที่นี่โอกาสที่จะถูกตัดขาน้อยลง ส่วนลูกค้ากลุ่มคนไทย โรงพยาบาลในเครือ BCH ถือว่ามีคนไข้ประกันสังคมมากกว่าที่สุดในประเทศไทย”

พีท - กันตพร หาญพาณิชย์

“กันตพร” ยังเปิดใจถึงความรู้สึกที่ได้มาช่วยบริหารธุรกิจครอบครัวว่า “มีความผูกพันกับโรงพยาบาลมาตั้งแต่เด็ก  ตนเห็นคุณพ่อและคุณแม่ซึ่งเป็นหมอทั้งคู่ทำงานหนักมาตลอด กระทั่งเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาล โดยยึดแนวทางการทำงานของพ่อเป็นแบบอย่างให้ตัวเอง”

นอกจากนี้ “กันตพร” ยังมองว่าการรับช่วงต่อธุรกิจจากพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะบริหารให้ธุรกิจเติบโต และส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปยากยิ่งกว่า ตามข้อมูลวิจัยที่ศึกษามา เกี่ยวกับโอกาสที่ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดนั้น

“เมื่อส่งต่อให้รุ่น 2 พบว่า ธุรกิจไปไม่รอดถึง 50% และเมื่อมาถึงรุ่น 3 รอดไม่ถึง 10%”

สาเหตุเพราะ ยิ่งมีคนในครอบครัวมาเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารมาก ก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจยากขึ้น และอาจทำให้ประสิทธิภาพองค์กรแย่ลง ดังนั้นจึงต้องใช้ฝีมือในการบริหารจัดการอย่างมาก

สำหรับหลักการทำงานที่ตนเองยึดถือมาตลอด คือ ต้องรักในสิ่งที่ทำก่อนเราถึงจะทำงานได้ดี และส่วนตัวชอบตั้งเป้าหมายทีละเล็กๆ แล้วทำให้สำเร็จทีละอย่าง

“ไม่เชื่อทางลัดที่เขาบอกว่า ความสำเร็จ ความร่ำรวย สามารถเกิดขึ้นได้เพียงข้ามคืน แต่ทุกอย่างต้องใช้ความพยายาม”

“กันตพร” ยังพูดปิดท้ายที่ว่า ตนไม่ได้คิดว่าตัวเองโชคดี หรือโชคร้ายที่เกิดมารวย เป็นถึงทายาทธุรกิจหมื่นล้าน แต่คิดว่า คือความรับผิดชอบที่จะรับช่วงต่อ เพราะต้องทำให้ธุรกิจเติบโต และยั่งยืนในเวลาเดียวกัน

และนี่คือ สูตรสำเร็จของ “พีท -กันตพร หาญพาณิชย์”  ทายาทรุ่น 2 อาณาจักรบางกอกเชนฮอสพิทอล ในฐานะนักบริหารรุ่นใหม่ ที่น่าจับตาในวงการธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,900 วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566