ความสัมพันธ์ ระหว่างพ่อกับลูกชาย ในมุมที่แตกต่าง (1)

22 มิ.ย. 2566 | 10:05 น.

ความสัมพันธ์ ระหว่างพ่อกับลูกชาย ในมุมที่แตกต่าง (1) คอลัมน์ Designing Your Family Business โดย รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

เมื่อพ่อและลูกชายทำงานร่วมกันด้วยระดับความสุขและความสำเร็จที่แตกต่างกัน เรื่องราวของความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูกชาย ตลอดจนเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความภักดีและชัยชนะก็มีมากมายเช่นกัน สมาชิกในครอบครัวมักจะพบว่าตัวเองมีหลายบทบาทเมื่อต้องทำงานร่วมกัน

ดังนั้นความสัมพันธ์จากการทำงานในธุรกิจครอบครัวจึงมีความซับซ้อนมากกว่าความสัมพันธ์ของคนที่ไม่เกี่ยวข้องกัน มาดูมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างพ่อลูกที่มักพบบ่อยๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในมุมมองของพ่อ

               • ลูกชายรีบร้อนเข้ามารับหน้าที่รับผิดชอบเร็วเกินไป

               • ลูกชายยังไม่พร้อมสำหรับความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็นอยู่

               • ลูกชายต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินการสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นวิธีที่พ่อรู้ว่าใช้ได้ผล

               • ลูกชายต้องการโอกาสมากเกินไปและเสี่ยงกับธุรกิจครอบครัว ซึ่งพ่อและปู่สร้างขึ้นจากความว่างเปล่าด้วยความพยายามอย่างมากและการเสียสละมากมาย

               • ลูกชายไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่พ่อทำสำเร็จ

 

               • ลูกชายไม่เชื่อถือวิจารณญาณและประสบการณ์ของพ่อ

               • ลูกชายมีการศึกษาดีกว่าพ่อ แต่พ่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชีวิตผ่านประสบการณ์จริง

               • สิ่งที่ลูกชายรู้ส่วนใหญ่มาจากหนังสือ

               • ลูกชายต้องการเปลี่ยนเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของธุรกิจครอบครัว

               • ลูกชายไม่ต้องการผู้จัดการที่จงรักภักดีต่อพ่อ ซึ่งอยู่กันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจด้วยความเชื่อมั่นในตัวพ่อแม้ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเลย

ความสัมพันธ์ ระหว่างพ่อกับลูกชาย ในมุมที่แตกต่าง (1)

ในมุมมองของลูกชาย

               • พ่อยังติดอยู่กับวิธีการเดิมๆในการทำสิ่งต่างๆ โดยไม่เข้าใจสิ่งที่ควรต้องทำในปัจจุบัน

               • พ่อไม่ให้อำนาจใดๆแก่ลูก หรือเมื่อให้อำนาจมาแล้วก็มาทวงคืน ด้วยการควบคุมเหนือลูกอีกที

               • พ่อไม่เคารพการตัดสินใจของลูก

               • พ่อไม่ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างให้เกียรติและเป็นมืออาชีพ

               • พ่อไม่ตระหนักว่าตัวเองไม่ควรเข้ามายุ่งกับการบริหารธุรกิจอีกต่อไป

               • พ่อมักใช้สถานการณ์ในการทำงานสอนการใช้ชีวิต ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นเด็กน้อยอยู่ตลอด

จากมุมมองในข้างต้นเห็นได้ชัดว่าพ่อและลูกให้ความสนใจกับสิ่งต่างๆ ในการทำงานแตกต่างกัน แน่นอนว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่ในครอบครัวที่ใกล้ชิดกันที่สุดและธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินกิจการได้ดีที่สุด

เนื่องจากแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน จึงมักจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับวิธีที่ “ถูกต้อง” ในการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งหากมีความเชื่อมั่นในมุมมองของตัวเองอย่างมากแล้ว การปะทะกันย่อมจะเกิดขึ้นเมื่อมีบุคคลอื่นแสดงความท้าทาย

(อ่านต่อฉบับหน้า)

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,896 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566