ไทยจะโตได้อย่างไรบนโครงสร้างที่ผุกร่อน

13 ส.ค. 2567 | 04:01 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2567 | 04:38 น.

ไทยจะโตได้อย่างไรบนโครงสร้างที่ผุกร่อน โดยสมหมาย ภาษี

โอลิมปิกที่ปารีสเพิ่งจะผ่านไป ทำให้คนไทยได้ปลื้มปิติกับนักกีฬาไทยที่ได้พยายามคว้าเหรียญได้ถึง 6 เหรียญ ทำให้คนไทยได้ชื่นใจได้บ้าง โดยเฉพาะน้องเทนนิส หรือ คุณพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ สาวไทยมหัศจรรย์ที่คว้าเหรียญทองได้คนเดียวในกีฬาเทควันโด และที่ว่ามหัศจรรย์ก็เพราะเป็นไทยคนเดียวที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก 2 เหรียญติดต่อกันใน 2 สมัย

แต่ต่อจากนี้ไปคนไทยก็ต้องตกอยู่ในความเศร้ากับภาวะเศรษฐกิจที่มีแต่จะถดถอยให้เห็นแสงสว่างที่ริบหรี่เต็มที่กับโครงสร้างเศรษฐกิจอันแสนจะผุพัง และล้วนเป็นโครงสร้างที่กระทรวงที่รับผิดชอบทำตัวได้แค่เป็นแพะร้องแบะๆ ไปวันๆ เท่านั้น

 

วันนี้ผมจะขอยกทีละเรื่องมาให้ฟังกันสัก 3 กระทรวงนะครับ

1. กระทรวงการคลัง

กระทรวงหลักของประเทศ กระทรวงที่ต้องหารายได้นอกจากมาเลี้ยงข้าราชการที่ต้องทำงานรับใช้ประชาชนแล้ว ยังต้องหารายได้มาใช้จ่ายในการดูแลความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้มีชีวิตอย่างมีความสุข และทั้งต้องกันเงินส่วนหนึ่งให้มากพอเพื่อไปลงทุนสำหรับอนาคตด้วย

แต่ทุกวันนี้รู้กันทั่วแล้วว่า งบประมาณขาดแคลนมากไม่พอสำหรับกิจการที่รัฐบาลต้องดูแล และส่วนที่เหลือไปลงทุนก็ต่ำถึงพื้นแล้ว ส่วนตัวเลขทางการคลังที่สำคัญที่เปิดช่องให้รัฐบาลนำเงินไปใช้จ่ายล้วนชนเพดานทั้งนั้น ไม่ว่ายอดหนี้สาธารณะ ยอดเงินกู้หรืองบขาดดุลที่จะสามารถหาเงินมาใช้ และช่องทางต่างๆ ด้านวินัยการคลัง ล้วนแล้วแต่ตีบตันไปหมด 

มันต้องทำบายพาสหรือผ่าหน้าอกเพื่อตัดต่อเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจเท่านั้นถึงจะอยู่รอด ที่ผ่านๆ มาร่วม 20 ปีแล้ว ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะการขึ้นภาษีหลักของประเทศแต่ประการใดเลย จะคิดแต่แจกเงินรอให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้นก่อนจึงจะคิดปรับขึ้นภาษี คงต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆ

สรุปแล้วกล่าวได้ว่าโครงสร้างด้านการคลังของประเทศล้วนแต่ผุพังหมดยุคกันไปหมดแล้ว กว่าจะแก้ไขได้ถ้าได้รัฐบาลที่ทำเป็นและมือสะอาดก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 7 - 8 ปี

 

2. กระทรวงอุตสาหกรรม

กระทรวงนี้ที่คนทั่วไปรู้จัก คือ กระทรวงที่กำกับดูแลการประกอบการด้านอุตสาหกรรมตลอดทั้งเรื่องการกำกับดูแลและการออกใบอนุญาตโรงงาน แต่ขณะนี้มีเรื่องใหญ่สำหรับประเทศเกิดขึ้นคือการวางนโยบายการผลิตรถยนต์ซึ่งรวมถึงการผลิตอะไหล่หรือชิ้นส่วนด้วย นโยบายการมุ่งส่งเสริมการผลิตรถกระบะที่ทำมานานจนนำพาประเทศให้เพิ่มการส่งออกได้มาก บัดนี้กำลังกลายเป็นโครงสร้างที่ผุพังเช่นกัน ส่วนโครงสร้างใหม่ยังไม่เกิด

การปรากฏตัวและขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลกของรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า รถ EV ทุกรูปแบบจากจีนทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีอาการไข้จับและตัวร้อนจนพูดไม่ออก รถยนต์ EV ของจีนที่มุ่งผลิตและเน้นการตีตลาดในทุกประเทศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเร็วมาก ในอาเซียน ประเทศจีนได้ใช้สัญญาการค้าเสรี หรือ FTAs (Free Trade Agreements) ระหว่างอาเซียนกับจีนเป็นตัวเปิดทางให้ส่งรถและแถมมาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ EV ด้วย รถ EV ของจีนก็จะวิ่งเต็มถนนเมืองไทยในเวลาไม่นาน

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่มีรถญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากตามโครงสร้างเก่าก็ต้องทยอยปิดตัวไป และโรงงานของบริษัทไทยที่ร่ำรวยจากการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ก็จะต้องค่อยๆ ปิดโรงงานตามไปด้วย ตัวอย่างรายแรกคือการเลิกโรงงานผลิตรถยนต์อีซูซุในประเทศไทย

 

3. กระทรวงพาณิชย์

กระทรวงนี้ไม่ใช่ดูแลเรื่องที่สำคัญเฉพาะการทำมาค้าขายเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไป  แต่ก่อนก็ซื้อมาขายไป ไม่มีการซื้อขายแบบอีคอมเมิร์ซเหมือนปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้นยุคนี้หรือในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ประเทศใหญ่ๆรุกหนักในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้ง AI มาทำการผลิตสินค้า และทำด้านการตลาดในรูปแบบประหลาดที่กระทรวงพาณิชย์ตามไม่ทัน รุกหนักเข้าไปในตลาดของประเทศกำลังพัฒนาที่ยังหลับๆตื่นๆพิงอยู่กับโครงสร้างเก่าที่ผุกร่อน แล้วประเทศอย่างไทยเราก็กลายเป็นแพะดีๆนี่เอง

สำหรับประเทศไทยนั้นโดนเล่นงานหนักมาก แทบจะมากกว่าใครอื่นเพราะตอนนี้ไทยอ่อนแอกว่าประเทศอาเซียนด้วยกัน การเข้าไปร่วมใน FTAs ไม่ใช่คิดง่ายๆ ประเทศที่ประสิทธิภาพและทักษะด้อยกว่า มักจะเสียเปรียบ ทราบว่ารัฐบาลนี้กำลังจะเร่งรัดการทำสัญญาการค้าเสรีกับประเทศเกาหลีซึ่งมีผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเหนือไทยมาก และกับกลุ่มประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งมีผลผลิตของสินค้าด้านปิโตรเคมีที่ก้าวหน้าและถูกมาก ผมว่าถ้ารัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ไม่อยากคิดมากก็ทำสัญญาการค้าเสรีกันให้หมดเลย อุตสาหกรรมน้อยใหญ่ของไทยจะได้เจ๊งไปพร้อมๆ กัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ได้ข่าวว่ามีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนรายใหม่ชื่อ “ทีมู (Temu)” ของบริษัทจีนชื่อ PDP Holdings Inc. ได้มาเปิดตัวในไทยขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชันเหมือนบริษัท ลาซาด้า (Lazada) ซึ่งก็เป็นของจีนที่เป็นบริษัทลูกของ Alibaba แต่ลาซาด้านั้นได้มีการจดทะเบียนในไทยแล้ว มีการเก็บภาษีได้บางส่วน ก็สามารถทำการค้าได้เสรี แต่ทีมูนี้ยังใหม่สำหรับไทย แต่ได้แพร่ทะลุทะลวงไปกว่า 40 ประเทศแล้ว รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาด้วย สำหรับไทยภาษีอะไรก็ไม่ต้องเสีย ยกเว้นส่งสินค้าผ่านกรมศุลกากร ได้ข่าวว่าราคาถูกกว่าสินค้าไทยถึง 1-2 เท่าตัว

การค้าแบบนี้ที่หลายคนเรียกว่า การทุ่มตลาด (Dumping) มีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเซรามิคซึ่งก็คือกระเบื้องแบบต่างๆ สินค้าไทยอย่าง Cotto ไม่มีทางจะสู้ได้ สินค้าจีนนับตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า และจิปาถะจึงขายในตลาดไทย ซื้อโดยคนไทยอย่างสนุกสนานมานานแล้ว แต่ตอนนี้มีแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Temu มีโปรแกรมที่ล่อใจในการขายมานาน ใช้ AI ช่วยด้านการตลาดอย่างเต็มที่ ยิ่งตอนนี้โดนต่อต้านมากจากอเมริกาและยุโรปจึงขยายตัวเข้ามาในตลาดอาเซียนอย่างเต็มที่

การทุ่มตลาดของสินค้าจีนเพิ่มประเภทสินค้ามากขึ้นเป็นลำดับ มีข่าวว่าหลายประเทศได้ออกมาตรการปกป้องตนเอง (Safeguards) มาแก้ปัญหา ที่มีข่าวออกมาชัดเจนและจริงจังกับการแก้ไขมากในประเทศกลุ่มอาเซียน คือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตกระเบื้องได้ดีและพยายามส่งออกด้วยแต่สู้จีนไม่ได้เลย ทราบว่าตอนนี้ระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการค้าของอินโดนีเซียได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตสินค้าของเขา ได้ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะหามาตรการ Safeguards ที่เป็นการต่อต้านการทุ่มตลาดของจีน หรือ การปกป้องประเทศตนตามที่สัญญา FTAs กำหนดไว้มาใช้

แม้ว่ารัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซียและสมาคมผู้ผลิตสินค้าเซรามิคได้พูดคุยกับรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของจีน เพื่อทำการคัดค้านหลายรอบแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เป็นผล ฝ่ายทางการของอินโดนีเซียจึงคิดที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าที่อาจสูงถึง 100 - 120 % เพื่อต่อต้านสินค้าจีนในเรื่องนี้ แล้วของรัฐบาลไทยท่านรัฐมนตรีพาณิชย์ แค่เชิญทูตจีนมาพบคุยกันเชิงขอร้องแล้วถือว่ารัฐบาลได้จัดการเรื่องจีนส่งสินค้ามาทุ่มตลาดแล้ว จะไหวหรือครับ

เรื่องการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีนวันนี้ ถ้าเป็นคู่มวยบนเวที นักมวยของไทยนอกจากจะถูกต้อนเข้ามุมแล้ว การ์ดก็ยกไม่ขึ้นเอาเสียด้วย