โครงสร้างค่าไฟฟ้า ยังต้อง “ปฎิรูป” ต่อ

02 ก.พ. 2566 | 07:00 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3858

หายใจคล่องขึ้นมาหน่อย หลังการหารือร่วมคณะทำงานพลังงานและค่าไฟฟ้าของภาคเอกชน 3 สถาบัน กับตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดใหม่ ที่จะใช้ระหว่าง พ.ค.-ส.ค.2566 แม้ยังไม่มีข้อสรุปการหารือที่แน่ชัด แต่มีข่าวดีที่ค่าไฟฟ้างวดต่อไปมีแนวโน้มที่จะลดลง

เวทีหารือดังกล่าวเกิดจากความวิตกของภาคเอกชน จากผลการพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดก่อน ที่เดิมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประเภทบ้านอยู่อาศัยเท่าเดิมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ซึ่งรวมถึงไฟฟ้าอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 5.59 บาทต่อหน่วย

เป็นการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าในอัตราสูง 2 งวดติดต่อกัน และทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของไทยมีระดับสูงกว่าเพื่อนบ้านโดยรอบ เทียบกับเวียดนามซึ่งมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยหน่วยละ 2 บาทกว่า กระทบความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกมาเคลื่อนไหวกดดัน โดยระบุหากต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าในระดับดังกล่าว จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า 5-12 % ในท้ายสุดกกพ.จึงมีมติให้ปรับขึ้นค่า Ft ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยกลุ่มพาณิชย์-อุตสาหกรรม อยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย

ข่าวดีค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงนั้น เป็นผลจากปัจจัยบวกคือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปรับขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนถูกลง รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เหลือ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จากที่ผ่านมาราคาสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นต้น ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่ลดแรงกดดันค่าไฟฟ้าข้างต้น เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมในตลาดโลกที่เราควบคุมไม่ได้ และมีโอกาสผันผวนสูง การแก้ปัญหาราคาพลังงานและไฟฟ้ายังต้องทำต่อ ในรูปของเวที “ผู้ผลิต-ผู้ใช้” เพื่อร่วมกันพิจารณาอย่างจริงจัง ถึงปัจจัยกำหนดราคาพลังงานและไฟฟ้าทั้งโครงสร้าง ให้สอดคล้องกับทรัพยากรในมือ เป้าหมายและนโยบายของประเทศ ตลอดจนการบริหารจัดการ ที่ต้องเป็นไปอย่างถูกที่ถูกเวลา ไม่ช้าจนล้าหลังและไม่เร็วไปจนโดดเดี่ยว เพื่อให้ต้นทุนพลังงานยังคงอยู่ในระดับเหมาะสม ที่สนับสนุนการเติบโตและขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายควบคู่กันไป