รัฐต้องคุ้มครอง “กลุ่มเปราะบางทางดิจิทัล”

20 ม.ค. 2566 | 22:00 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3855

นับแต่วันที่ 10 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถแสดงบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน แทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นบัตรแบบเดิมได้แล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้ 

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยกระดับสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) อย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 73 ในปี 2561 ขึ้นมาอยู่ที่ 57 ในปี 2563 โดยหน่วยงานรัฐต่างใช้ดิจิทัลมายกระดับพัฒนาบริการประชาชน ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากที่สุด อาทิ ระบบ e-Lands Annoucement ของกรมที่ดิน ระบบ Tax Single Sign On ของ 3 กรมภาษี กระทรวงการคลัง ระบบ SSO Connect ให้ผู้ประกันตนใช้ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ แอปพลิเคชันเป๋าตังและระบบพร้อมเพย์ เพื่อการโอนเงินระหว่างรัฐ-ประชาชน

จากการที่รัฐบาลได้มุ่งส่งเสริมและผลักดัน ในการวางสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศ การสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ยังเอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าถึง 4.01 ล้านล้านบาท ในปี 2564 และมีอัตราเติบโต 6.11% จากปีก่อนหน้า  

นอกจากเปิดให้ใช้บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว ในอนาคตอันใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังจะให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อให้บริการทางการเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม แต่เน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการ เพื่อให้บริการลูกค้าทางออนไลน์เป็นหลักโดยไม่มีสาขา หรือตู้ ATM CDM ซึ่งจะมีต้นทุนถูกกว่า หรือการต่อยอดแอปพลิเคชันหมอพร้อม ของสาธารณสุขที่เคยใช้จัดระบบบริหารจัดการการฉีดวัคซีนสู้เชื้อโควิด-19 ครอบคลุมคนไทยเกือบทั้งประเทศ ให้เป็นแฟ้มสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ประจำตัวประชาชนแต่ละคน เป็นต้น

สังคมไทยกำลังเรียนรู้และปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเร่งรีบ ควบคู่กับความรวดเร็ว ครอบคลุม สะดวกสบายยิ่งขึ้นนี้ ก็มีภัยที่แฝงตัวมากับความเปลี่ยนแปลง ทั้งการฉ้อโกงต้มตุ๋นทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการรวดเร็วตามไปด้วย และสามารถสร้างความเสียหายร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสร้างเรื่องล่อลวงทางออนไลน์เพื่อให้โอนเงิน โรแมนซ์สแกม จนถึงลิงก์ดูดเงิน

มีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก หลายกรณีนำไปสู่เหตุร้ายที่น่าสลดใจ เช่น เยาวชนขโมยเงินไปลงทุนหวังช่วยพ่อแม่ สุดท้ายถูกหลอกแอบไปฆ่าตัวตาย หรือผู้สูงอายุ ชาวชนบทที่ไม่คุ้นเคยระบบออนไลน์ ถูกหลอกให้ทำรายการโอนเงินหมดบัญชี ปัญหาเหล่านี้นอกจากการออกมาเตือน หรือให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันแล้ว รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องออกแบบระบบหรือกลไกเพื่อป้องกันหรือลดความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเปราะบางทางดิจิทัล