‘สถาบันฯป๋วย’สร้างคลังนักวิจัย เชื่อประสาน‘เศรษฐศาสตร์เข้าท่า เข้าถึงประชาชน’

19 เม.ย. 2559 | 00:00 น.
นอกจากกิจกรรมฉลอง 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นทั้งนักบริหาร นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เป็นต้นแบบด้านจริยธรรมซึ่งองค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมสืบสานปณิธานมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้จัดตั้ง "สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์" เพื่อเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเผยแพร่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับทรัพยากรต่างๆ เข้าด้วยกัน

โดย "ปิติ ดิษยทัต" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า กระบวนการตอบสนองที่มีแรงกระตุ้นและประยุกต์นั้น สามารถทำให้ก้าวข้ามต่อไปแต่ค่อนข้างจะมีข้อจำกัด เนื่องจากโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง หรือมีความซับซ้อนและผันผวนสูง ดังนั้นจึงต้องสร้างความรู้ใหม่ซึ่งต้องเป็นกระบวนการที่กระตือรือร้นและข้อสำคัญต้องเป็นกระบวนการที่สร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดขึ้นในแง่ของผลงานวิจัย/ผลงานวิชาการนั้น ส่วนตัวมองเป็นการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้กับสังคมกับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ามองลึกๆ ไปแล้ว งานวิจัยคืองานที่จะทำให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน และโต้แย้งในประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้น้ำหนักให้ความสำคัญ การเรียนรู้มากกว่าความรู้ (ซึ่งค่อนข้างนิ่ง) แต่กระบวนการเรียนรู้ทำให้ความรู้นั้นมีพลวัตขึ้น "สิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก คือ การสร้าง Research Culture หรือวัฒนธรรมของงานวิจัย เพราะข้อสังเกตในที่ประชุมหลายท่านจะแน่นข้อมูล แต่ถ้าถามว่าคุณคิดอย่างไรส่วนมากจะเงียบ! ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในองค์กรและประเทศ ดังนั้น น่าจะให้ความสำคัญกับการคิดให้ถูกมากว่าที่จะให้ความสำคัญกับการตอบให้ถูก เพราะสัจธรรมเศรษฐศาสตร์คำตอบบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป"

สำหรับบทบาทของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์นั้น ก่อตั้งมาขึ้นเดือนสิงหาคมปี 2558 เจตนารมณ์จริงๆ คือ ประเทศไทยมีอุปสรรคสำคัญซึ่งขาดพื้นที่ส่วนกลางให้งานวิจัยอยู่ในที่เดียวกัน และผู้ดำเนินนโยบายสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมางานวิจัยของประเทศไทยหลายองค์กร ไม่ว่าธรรมศาสตร์หรือจุฬาฯ ยังกระจัดกระจายไม่มีพื้นที่ส่วนกลางให้อยู่ในที่เดียวกันอย่างเด่นชัด ดังนั้นภารกิจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย จะประกอบด้วย 3 ด้านด้วยกัน คือ การสร้าง, ประสานและขยายผล โดยภารกิจการสร้างนั้น มุ่งผลิตชิ้นงานวิจัยออกสู่สาธารณะ รวมทั้งผ่านเว็บไซต์ www.pier.or.th

ส่วนภารกิจที่ 2 เรื่องประสานนั้นเป็นความพยายามจะสร้างเครือข่ายของนักวิชาการ เชื่อมต่อนักวิจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนวิจัย หรือการเข้าถึงผลงานวิชาการต่างๆ ที่ง่ายขึ้น สำหรับภารกิจที่ 3 ด้านการขยายผลคือ มุ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับนักวิชาการนำเสนอผลงานวิจัย หรือบทความที่มีคุณภาพที่ออกมาให้มีความเด่นชัด สามารถจับต้องและเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ต้องไปคว้านหาทั้งชื่อเรื่องและผู้เขียน

ตัวอย่างโปรดักต์ผ่านเว็บไซต์ ประกอบด้วย บทความวิชาการฉบับเต็ม หรือเรียกว่า PTER Discussion Paper เป็นการรักษาองค์ความรู้/ผลงานวิจัยเชิงลึกที่มุ่งตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่ในที่เดียวกัน ส่วนที่ 2 คือ aBRIDGEd บทความเชิงสังเคราะห์ (ฉบับย่อ) สรุปความเพื่อให้งานวิจัยสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย อีกอันเพิ่งพัฒนาเป็นโปรดักต์ใหม่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์เข้าท่า เป็นบทความ Editorial ที่เหลือเป็นภารกิจจัดอีเวนต์/สัมมนา ร่วมมือกับสถาบันการเงิน หน่วยงานแต่ละด้าน ที่สำคัญจะมีคลังนักวิจัยประมาณ 80 คนโดยจัดเก็บประวัติย่อสั้นโดยบอกถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งส่วนนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับสื่อและสังคม กรณีต้องการข้อมูลเชิงลึกจากผู้ที่มีความรู้จริงๆ ทั้งนี้แนวโน้มปริมาณนักวิจัยจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันจะมีตัวอย่างเว็บไซต์ให้สามารถติดตามผลงานได้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559