SET งัดกฎ Uptick คุมเข้มชอร์ตเซล ดีเดย์ไตรมาส2/67

25 เม.ย. 2567 | 10:47 น.

SET เตรียมใช้เกณฑ์ Uptick ทุกหลักทรัพย์ หวังคุมเข้มชอร์ตเซลยากขึ้น คาดเริ่มมีผลปลายไตรมาส 2/67 ชี้ลดค่าธรรมเนียมการแปลง NVDR เป็นหุุ้นไทย 1 มิ.ย.- 31 ธ.ค. 67 คิดเป็นมูลค่าค่าธรรมเนียมราว 7 ล้านบาท ไม่ชี้ขาดเข้มงวด NVDR ฉุดการลงทุน

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กร และกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งในเรื่องมาตรการเกี่ยวกับการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ มาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และ มาตรการที่เป็นการเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน

โดยกลุ่มมาตรการเกี่ยวกับการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ ทางตลาดหลักทรัพย์ได้มีการทบทวนหลักทรัพย์ที่ ShortSelling ได้ กรณี Non-SET 100 จะต้องมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท ต้องมีปริมาณการซื้อขาย (Turnover Ratio) เฉลี่ยใน 12 เดือนที่ระดับ 2% อีกทั้งยังมีการเพิ่ม Uptick ให้ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ ได้ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) คาดจะทำให้การทำธุรกรรมขายชอร์ตทำได้ยากขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวได้มีการหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว คาดจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาส 2/2567

ส่วนมาตรการกำกับการซื้อขาย จะมีการเพิ่มมาตรการ Auction โดยจะกำหนดให้ใช้วิธีการซื้อขายแบบ Auction หรือเปิดจับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบ กับหลักทรัพย์ที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 2 ซึ่งเพิ่มเติมจากมาตรการอื่นๆ ที่ยังคงใช้บังคับอยู่ และจะสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในช่วงไตรมาส 3/2567 ส่วนการเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น โดยกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคา (ที่แคบกว่า Celling& Floor) เอาไว้เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป คาดว่าจะมีะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในช่วงปลายไตรมาส 2/2567 นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะจัดให้มี Central Platform ในการ Check หลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการตรวจสอบ Availability ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะรับหน้าที่เป็นคนทำแพลตฟอร์ม และให้สมาชิกนำส่งข้อมูลมารวบรวมในแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในช่วงปลายไตรมาส 4/2567 นี้

ขณะที่มาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ที่ประกอบด้วย 1. เพิ่มการ Auto halt รายหุ้น กรณีมีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่าจำนวนที่กำหนดเพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ 2. กำหนด Minimum Resting Time ของคำสั่งก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกไว้ที่ 250 milliseconds โดนคำสั่งที่มีการแก้ไขหรือยกเลิกก่อนเวลาดังกล่าวจะถูก reject โดยระบบ 3. เปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้แก่สมาชิกทุกราย และ 4. ให้สมาชิกและลูกค้าที่ใช้ HFT ต้องยื่นคำขอและ filing ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับ Sub-Account ของ Omnibus Account

"มาตรการยกระดับการกำกับดูแล ทาง ตลท. ยังคงเดินหน้าหารือกับทาง ก.ล.ต. และหน่วยงานอย่างเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และเร่งดำเนินการใช้งานในส่วนที่มีความชัดเจนให้เกิดผล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและเป็นอีกการป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุนไทย ส่วนสภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ซบเซา แม้ว่าตลท. จะมีการใช้มาตรการกำกับดูแลที่เข้มข้นมากขึ้น แต่มองว่าวอลุ่มการซื้อขายนั้นมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง"

อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ลดลงวันนี้ บอกไม่ได้ว่าเกิดจากการที่ทางตลท. กำหนดเข้ม NVDR มากไปหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบด้วย อย่างเมื่อสัปดาห์ก่อนที่เปิดมาแล้วหุ้นลงเพราะคนไม่มั่นใจเรื่องสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน แต่หากดูพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนช่วงที่ผ่านมาแย่ลง จากหลายปัจจัย เช่น เศรษฐกิจ หรือหากย้อนไปดูช่วงโควิด-19 ในปี 2563 ที่ราคาหุ้นยังเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าจะหาเหตุผลในสิ่งที่เกิดขึ้น บางทีก็ยาก

ในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมการแปลง NVDR เป็นหุุ้นไทย ในช่วง 1 มิถุนายน ถึง 31 ธันวาคม 2567 นี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีการแปลงกลับมาน้อยแค่ไหน โดยคนไทยที่ถือครอง NVDR มีจำนวนอยู่หลักหมื่นรายในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่ามูลค่าจะอยู่ประมาณ 70,000 ล้านบาท ดังนั้น หากคำนวนการลดค่าธรรมเนียมในการแปลง NVDR นี้เป็นหุ้นไทย คาดว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมทั้งขาซื้อและขาขาย ราว 7 ล้านบาท

สำหรับประเด็นที่ "นายพิชัย ชุณหวชิร" ได้ส่งหนังสือแจ้งลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ ตลท. แล้ว โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 25 เมษายน 2567 นี้  มองว่าเนื่องจากประธานกรรมการมาจากการแต่งตั้งของสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้น ตามกระบวนการจึงต้องรอการสรรหาโดย ก.ล.ต. ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างรอยต่อที่ไม่มีประธานกรรมการ มั่นใจว่าคณะกรรมการทั้ง 10 ท่านที่มีอยู่ยังทำงานได้ตามปกติ โดยมี นายพิเชษฐ  สิทธิอำนวย รองประธานกรรมการ ตลท. จะปฎิบัติหน้าที่แทนประธานฯ