ชง ครม. คุมกำเนิดโรงงานเหล็กเส้น

27 ม.ค. 2562 | 06:34 น.
270162-1326

ก.อุตสาหกรรม เตรียมชง ครม. ห้ามตั้ง หรือ ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือ เหล็กแท่งเหล็ก ทุกขนาด แก้ปัญหากำลังผลิตต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศกระทบหนัก

ปัญหาของการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศไทยกำลังเดินมาถึงทางตัน หลังจากที่ในประเทศไทยมีกำลังผลิตรวมกันที่ 9.06 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันยังใช้กำลังผลิตได้เพียง 3.45 ล้านตันต่อปี หรือใช้กำลังผลิตราว 30% เศษ ของกำลังผลิตทั้งหมด ทำให้ปริมาณเหล็กเส้นยังล้นตลาดอยู่ราว 5.42 ล้านตันต่อปี


appchina-steel

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง : ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาดทุกท้องที่ในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ที่ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับการบริหารราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เห็นชอบให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ ครม. แล้ว คาดว่าจะเข้าพิจารณาใน ครม. ในเร็ว ๆ นี้

 

[caption id="attachment_380403" align="aligncenter" width="311"] อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านั้น ผู้ประกอบการกลุ่ม 7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี, สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า, สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย, สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และสมาคมโลหะไทย ได้เสนอร่างแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเหล็กไทย 4.0 ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนระยะสั้น คือ การแก้ไขปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาหลายปี จากปัญหาภายในตัวของอุตสาหกรรมเอง คือ กำลังการผลิตส่วนเกินและอัตราการใช้กำลังผลิตต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบภาวะขาดทุน บางรายต้องหยุดการผลิตชั่วคราว หรือ บางรายต้องหยุดกิจการเป็นการถาวร

นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาที่น่ากังวล คือ การลดกำลังการผลิตส่วนเกินจากต่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรเก่าด้อยคุณภาพเข้ามายังประเทศไทยแทน ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย

 

[caption id="attachment_380235" align="aligncenter" width="500"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอร่างดังกล่าวนี้ จะครอบคลุมเฉพาะการห้ามตั้งและห้ามขยายโรงงานเท่านั้น แต่ไม่ได้ห้ามการนำเข้าสินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือ เหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่ครอบคลุมกับการแข่งขันจากสินค้าในประเทศและต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ วงการเหล็กออกมาระบุผ่านสื่อชัดเจนว่า มีการเข้ามาลงทุนหลอมเศษเหล็กแบบ Induction Furnace หรือ IF เกิดขึ้นในประเทศหลายราย ซึ่งการผลิตด้วยกรรมวิธีดังกล่าวเคยสร้างปัญหามลพิษภายในประเทศจีนอย่างหนักมาแล้ว

สำหรับร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง : ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาดทุกท้องที่ในราชอาณาจักร พ.ศ. .... จะมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ขยายโรงงาน (รง.3) หรือ คำขอใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว เพื่อให้เกิดความทัดเทียมและป้องกันการเกิดช่องว่างสำหรับโรงงานที่มายื่นขอเอกสาร EIA แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการใด

 

[caption id="attachment_380408" align="aligncenter" width="335"] กรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)[/caption]

ต่อเรื่องนี้ นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบัน เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือ เหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ไม่มีการนำเข้า เพราะ มอก. บังคับปั๊มตัวนูน ส่วนประเด็นที่น่าห่วง ยืนยันว่า เป็นเรื่องของกำลังผลิตเหลือ หรือ ล้นตลาด เนื่องจากปริมาณความต้องการต่ำ และมีปัญหาเรื่องรัฐบาลจีนสั่งการปิดเตา Induction ในประเทศจีน จำนวน 140 ล้านตัน เนื่องจากมีคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ และมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงกลัวจะมีการนำเครื่องจักรเก่าจากประเทศจีนมาใช้ในประเทศไทย เพราะรัฐบาลจีนให้ปิดและส่งออกมาต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมตามมา


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,438 วันที่ 24-26 ม.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สมอ. ยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กเส้น! ดีเดย์ 18 มิ.ย. นี้ ตีตราโชว์มาตรฐานเพิ่มเชื่อมั่นผู้บริโภค
'ทาทาสตีล' เปิดนวัตกรรมเหล็กเส้นขึ้นรูปตัดและดัด เพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้าง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว