'ชนินทธ์' จี้มหาดไทย! ผุด พ.ร.บ.ที่พักอาศัย

25 มิ.ย. 2561 | 04:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

'ชนินทธ์' ดันกระทรวงมหาดไทย เร่งยกเครื่องกฎหมายโรงแรมไทย แก้ พ.ร.บ.โรงแรม เปลี่ยนมาเป็น พ.ร.บ.ที่พักอาศัยเพื่อมาทำโรงแรม ดึงที่พักขนาดเล็กที่เกิดขึ้นใหม่ โฮสเทล โฮมสเตย์ แพที่พักเข้าระบบ

นายชนินทธ์ โทณวณิก หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ (คณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ผมได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงการแก้ไขกฎหมายโรงแรมใหม่ทั้งหมด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็เห็นชอบในหลักการถึงการปรับเปลี่ยนพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาเป็นพระราชบัญญัติที่พักอาศัยเพื่อมาทำโรงแรม ซึ่งธุรกิจโรงแรมก็จะเป็นส่วนหนึ่งใน พ.ร.บ. นี้

เนื่องจากปัจจุบัน โลกเปลี่ยนไปจากอดีตมาก ที่พักก็มีหลากหลายประเภท โรงแรมไม่ได้มี 200 ห้อง หรือ 500 ห้อง หรือต้องมีสระว่ายน้ำ ทำให้ที่ผ่านมา ที่พักขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะมีความยากลำบากในการขอใบอนุญาตโรงแรม ที่พักหลายประเภทก็ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.โรงแรม และการจะใช้วิธีการปราบปรามผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง ปราบอย่างไรก็ไม่จบ ซึ่งต้องแก้ไขให้ถูกทาง กลุ่มไหนไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องเอาออกไป

โดยใน พ.ร.บ.ที่พักอาศัยเพื่อมาทำโรงแรม ก็จะมีในกลุ่มของโรงแรมและกลุ่มที่พักขนาดเล็ก อาทิ ที่พักที่ดัดแปลงเป็นโฮมสเตย์ โฮสเทล แพที่พัก เพื่อดึงให้เข้ามาอยู่ในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งผมก็หวังว่า กระทรวงมหาดไทยจะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดความเป็นรูปธรรม

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ภาครัฐควรจะเพิ่มบทลงโทษสำหรับการประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยกำหนดบทลงโทษสำหรับโรงแรมเถื่อนที่มีการดำเนินโฆษณาและประชาสัมพันธ์โรงแรม ให้ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทด้วย เพื่อหากตรวจสอบพบว่า มีการโฆษณาหรือนำเสนอขายโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใด หรือแม้แต่ในโซเชียลฯ ก็สามารถลงโทษได้ทันที ไม่ต้องรอจนครบองค์ประกอบการขายและรับเงิน แล้วจึงจะดำเนินคดีได้

รวมถึงควรเพิ่มบทลงโทษสำหรับโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และเรียกร้องให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งระงับใช้อาคารได้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 วันที่ 24-27 มิ.ย. 2561 หน้า 22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
บอร์ดบีโอไอไฟเขียวเปิดส่งเสริมกิจการพัฒนาที่พักอาศัยให้แรงงานมาตรฐานสากล
CRD แตกตัวรุกอสังหาฯ รับลูกค้าจีนแห่ซื้อที่พักอาศัยเชียงใหม่


e-book-1-503x62