ทีมสอบวินัยร้ายแรง“บิ๊กโจ๊ก”สยบข้อกังขาก.ม. ไฟเขียวให้ออกราชการไว้ก่อน

10 พ.ค. 2567 | 07:17 น.

กรรมการสอบวินัยร้ายแรง “บิ๊กโจ๊ก” ถกข้อกังขากฎหมาย มาตรา 120 วรรคสี่ พร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก่อนไฟเขียวตามที่ “บิ๊กต่าย” รักษาการ ผบ.ตร. สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เหตุต้องหาคดีอาญา

มีรายงานว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้มีการประชุมกันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 โดยมีเรื่องพิจารณาที่สำคัญคือ การเสนอแนะความเห็น ตามมาตรา 120 วรรคสี่ ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 

เนื่องจากเป็นที่ถกเถียงและแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายในแวดวงนักกฎหมาย จากกรณีที่ บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน อันเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรง และต้องหาคดีอาญา

มีรายงานว่า ผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง มีมติ ว่า เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือ ต้องหาคดีอาญา ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือ ลหุโทษ 

ดังนั้น ผู้ออกคำสั่งคือ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. จึงมีอำนาจตามมาตรา 105 และ 108 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาพัก หรือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 131 ได้ จึงยังไม่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแต่อย่างใด หากพบว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่นอีก ก็จะรายงานต่อไป
สำหรับกรรมการสอบวินัยร้ายแรง “บิ๊กโจ๊ก” และพวกรวม 5 ราย มี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า “ทีมบิ๊กต่าย” ได้รับคำยืนยันจาก “กูรูกฎหมาย” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาประเด็นนี้ด้วย สรุปว่า กรณีของ “บิ๊กโจ๊ก” ไม่ได้เข้าข่าย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา 120 แต่ไปเข้ามาตรา 131 กล่าวคือ 

ตามมาตรา 131 วรรคหนึ่ง “บิ๊กต่าย” ในฐานะผู้บังคับบัญชา  ย่อมมีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ภายใต้เงื่อนไขว่า “หากผู้ถูกกล่าวหาทำผิดวินัยร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา” 

เงื่อนไขเหล่านี้ย่อมมีผลทำให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจ ที่จะสั่งพักราชการ และให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ โดยมาตรา 131 วรรคหนึ่ง ชี้ชัดว่า “เป็นอำนาจดุลยพินิจโดยเฉพาะของผู้บังคับบัญชา”  โดยไม่ต้องรอให้คณะกรรมการสอบสวนทำข้อเสนอแนะเหมือน มาตรา 120 ซึ่งเกี่ยวกับการรอนสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกสอบสวน

แม้มาตรา 131 วรรค 6 จะบัญญัติว่า อำนาจของผู้บังคับบัญชาในการสั่งพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน กฎ ก.ตร.  ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 131 วรรค 6 ก็ตาม 

แต่ปัจจุบันยังไม่มีการตรา กฎ ก.ตร. ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ คือ พ.ศ.2565

ดังนั้น ตามบทเฉพาะกาล ในมาตรา 179 จึงต้องนำหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการสั่งพักราชการ หรือ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.ตร.เดิม เมื่อปี 2547 มาบังคับใช้โดยอนุโลมไปพลางก่อน

ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่า ในกรณี “บิ๊กโจ๊ก” การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการขัดต่อ มาตรา 120 วรรคท้ายนั้น จริงๆ แล้วการดำเนินการทางวินัยในกรณีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่บัญญัติในมาตรา 120 วรรคท้าย เป็นคนละกรณีกับการดำเนินการทางวินัย

ในกรณีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่บัญญัติในมาตรา 131 วรรคหนึ่ง เพราะตามมาตรา 120 วรรคท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และ ระยะเวลาเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน และการดำเนินการสืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามมาตราอื่นๆ 

เพียงแต่ตามมาตรา 120 วรรคท้าย บัญญัติห้ามว่า จะอ้างเหตุที่ถูกสอบสวน แล้วไปกระทบสิทธิ์ หรือ รอนสิทธิ์ ผู้ที่ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่คณะกรรมการสอบสวน จะเสนอให้สั่งพักราชการ หรือ ออกจากราชการ (เช่น สิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งในปีนี้ เพราะครบวาระการดำรงตำแหน่ง เป็นต้น) 

ส่วนมาตรา 131 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจดุลพินิจโดยแท้ หรือเป็นการเฉพาะแก่ผู้บังคับบัญชา ที่จะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 130 วรรคหนึ่ง และวรรคหก โดยไม่ต้องรอข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนแต่อย่างใด และใช้บังคับเฉพาะกับกรณีถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยร้ายแรง หรือ ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา เท่านั้น