มิตซูฯปักหลักโชว์รูมห้าง เน้นขายไร้ศูนย์บริการ ตั้งเป้า10แห่งใจกลางกรุง

28 พ.ย. 2560 | 23:10 น.
“มิตซูบิชิ” เร่งปั้นแบรนด์ ชวนดีลเลอร์เปิดโชว์รูมเพื่อรองรับการขายรถยนต์ โดยไม่มีบริการหลังการขาย เข้าถึงตัวลูกค้าย่านใจกลางเมือง พร้อมสนับสนุนค่าเช่า 50% ในช่วง 3 ปีแรก เริ่มปีหน้าตั้งเป้า 10 แห่งในกรุงเทพฯ

การสร้างเครือข่ายผู้จำหน่ายที่แข็งแกร่ง ถือเป็นเป้าหมายของทุกบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย ซึ่งการมีพันธมิตรหรือคู่ค้าที่ไว้ใจได้และปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทแม่อย่างไม่บิดพลิ้ว เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง พร้อมสะท้อนผ่านภาพลักษณ์และยอดขายในระยะยาว

โดยปกติโชว์รูมและศูนย์บริการตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะมีครบทั้ง 3 S คือ Sale-การขาย Service-การบริการ/บริการหลังการขาย และ Spare parts-อะไหล่ ส่วนสเกลจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับนโยบายและความเหมาะสมตามแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การซื้อรถโดยเข้ามาหาข้อมูลหรือวิ่งเข้ามาชนที่โชว์รูมน้อยลง ค่ายรถยนต์จึงต้องสรรหากลยุทธ์ใหม่ๆ เช่น การออกอีเวนต์ขายรถตามงานต่างๆ และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพื่อเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรง เช่นเดียวกับการพัฒนาช่องทางออนไลน์ที่กลายเป็นหัวใจหลักของทุก ดีลเลอร์ไปแล้ว

บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ภายใต้นายใหญ่ “โมริคาซุ ชกคิ” ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มา 3 ปี เริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจ การบริหารภายในองค์กร หรือการย้ายสำนักงานใหญ่จากปทุมธานีเข้ามาสู่ใจกลางเมืองย่านคลองเตย แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและการกล้าเปลี่ยน แปลงไปสู่สิ่งใหม่อย่างชัดเจน

MP32-3317-1A ล่าสุดยังออกไอเดียใหม่ ด้วยการเปิดโชว์รูมเพื่อการขายรถยนต์อย่างเดียวในเขตกรุงเทพ หรือคล้ายๆ กับบีเอ็มดับเบิลยู สตูดิโอ ที่เปิดในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ซึ่งจะมีรถจอดโชว์ได้ 3-4 คัน เพื่อปูทางการขายให้หลากหลายมากขึ้น

โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย แบ่งทำเลที่ตั้งออกเป็น 10 เขตในกรุงเทพฯ เพื่อให้ดีลเลอร์ที่สนใจเข้าร่วมแผนธุรกิจใหม่ ซึ่ง 10 เขตดังกล่าวถือเป็นย่านธุรกิจดัง อันประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตีมอลล์ อาคารสำนักงานขนาดใหญ่

แม้การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นของดีลเลอร์ แต่ในช่วงตั้งไข่ของโชว์รูม 1S มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จะช่วยออกค่าเช่าพื้นที่ให้ 50% ใน 3 ปีแรก โดยอัตราค่าเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าหรืออาคารดังๆของกรุงเทพฯ ก็ต่างกันไปแต่คาดว่าต้องมีค่าใช้จ่าย 2-3 แสนบาทต่อเดือน

โมเดลธุรกิจใหม่ของมิตซูบิชิในครั้งนี้ นอกจากจะรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังเป็นการชดเชยโชว์รูม-ศูนย์บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีเป้าหมาย 50 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการอยู่เพียง 41 แห่ง ส่วนชื่ออย่างเป็นทางการของโชว์รูม 1S มิตซูบิชิ ยังไม่เปิดเผย แต่คาดว่าจะพร้อมทยอยเปิดในปีหน้าเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามดีลเลอร์มิตซูบิชิบางรายยังไม่มั่นใจกับแผนงานใหม่นี้ เพราะปกติรายได้หลักของ ดีลเลอร์ยังมีเรื่องบริการหลังการขาย และการขายอะไหล่ แต่โชว์รูมแบบ 1S แห่งนี้มีรายได้จากการขายรถใหม่อย่างเดียว ขณะเดียวกันการขายรถในกรุงเทพฯ ถือว่าแข่งขันกันสูงอยู่แล้ว จึงต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าหากตัดสินใจลงทุน ซึ่งต่างจากการลงทุนในสื่อออนไลน์ที่เห็นการตอบรับรวดเร็วและชัดเจนกว่า

บาร์ไลน์ฐาน สำหรับโมเดลธุรกิจ 1S มีค่ายรถระดับหรูเริ่มทำมาก่อนหน้าที่สยามพารากอน ทั้ง บีเอ็มดับเบิลยู ลัมโบร์กินี มาเซราติ แอสตัน มาร์ติน ล่าสุดจากัวร์-แลนด์โรเวอร์ และบิ๊กไบค์รุ่นใหญ่ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ขณะที่เจ้าพ่อรถจักรยานยนต์เมืองไทย “เอ.พี.ฮอนด้า” เพิ่งเปิดแผนงานใหญ่เช่นกัน

โดย “เอ.พี.ฮอนด้า” ประกาศความร่วมมือกับ “เกรฮาวด์” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านว่า เตรียมเปิดธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ “คับเฮ้าส์” (CUB HOUSE) สถานที่แฮงเอาต์สำหรับคนรุ่นใหม่ รวบรวมเอาไลฟ์สไตล์ แฟชั่น อาหารเครื่องดื่ม รถจักรยาน ยนต์รุ่นยอดนิยม รุ่นพิเศษมารวมอยู่ในร้านนี้

“เราต้องการนำเสนอคุณค่าใหม่ที่ไม่มีใครได้สัมผัสมาก่อน ผ่านร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์รูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า คับเฮ้าส์ แห่งนี้” นายโยอิจิ มิซึทานิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กล่าว

สำหรับ “คับเฮ้าส์” จะเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์รูปแบบใหม่ พร้อมรองรับกิจกรรมต่างๆ และขายรถในพื้นที่แห่งนี้ได้อีกด้วย โดย “เอ.พี.ฮอนด้า” จะลงทุนเองด้วยการเปิดสาขาต้นแบบแห่งแรกย่านสุขุมวิท-เอกมัยในปีหน้า จากนั้นจะให้ดีลเลอร์ที่สนใจขยายสาขาใหม่ต่อไปพร้อมตั้งเป้า 40 แห่งภายในปี 2563

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว