หุ้นกลุ่ม JMART ใครๆ ก็ไม่รัก?!

13 มี.ค. 2567 | 00:09 น.

หุ้นกลุ่ม JMART ใครๆ ก็ไม่รัก?! : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,974 วันที่ 14 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2567

*** ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครการันตีได้ว่า “หุ้นตระกูล J” ที่ประกอบไปด้วย “JMART-SINGER-JMT-SGC รวมไปถึง J” ได้ปรับราคาลงมาถึงจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง หรือว่า ยังจะลงได้ไปอีก!!!

ความกังวลที่ว่านี้ ส่งผ่านออกมาให้เห็นผ่านการถูกทยอยขายออกมา เริ่มจาก SINGER ที่ได้ถูกทาง RABBIT ทำสัญญาว่าจะขายคืนในราคา 20 บาท ซึ่งแม้ว่าจะขายสูงกว่าราคาหุ้นหน้ากระดาน แต่ก็เป็นเพราะ RABBIT ซื้อมาในราคาที่สูงกว่านี้มาก จนไม่อยากที่จะขาดทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ 

ขณะที่ในส่วนของหุ้น JMT ซึ่งเป็นหุ้นที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นบวก แต่ล่าสุด บลจ.บัวหลวง กลับแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมา นัยว่า...เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้น เนื่องจากราคายังมีแนวโน้มที่เป็นขาลงอยู่ดี และที่เจ๊เมาธ์ว่ามานี้ ยังไม่รวมไปถึงการที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ต้องยอมตัดขายขาดทุน เพราะราคาปรับร่วงหนักมากนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากติดตามหุ้นกลุ่มนี้มาตลอด ก็จะรู้ว่า รอบขาลงของหุ้นตระกูล J นี้ได้เริ่มต้นมาจากการที่ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ถูก Margin Call ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันถัดจากที่ JMART Group โดย “อดิศักดิ์” ได้ประกาศ “ขายฝัน” ว่า JMART ตั้งเป้าผลการดำเนินงานปี 2566 กำไรนิวไฮอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเติบโต 50% จากปีก่อนหน้า เป็นการเติบโตทั้งในรูปแบบ Organic Growth และ Inorganic Growth 

แต่ในความเป็นจริง หลังแจ้งผลการดำเนินงานรอบปี 2566 กลับพบว่า JMART ขาดทุนไปถึง 447 ล้านบาท จากที่เคยมีกำไรในปี 2565 จำนวน 1,794 ล้านบาทไปโน้นเลย 
 ไม่ได้ใกล้เคียงกับฝันที่ “อดิศักดิ์” ขายเอาไว้เลยสักนิด เมื่อเป็นกันซะแบบนี้ จึงไม่แปลกที่ในวันนี้ ใครๆ ก็ไม่รักหุ้นตระกูล J เรื่องมันก็เป็นแบบนี้นี่เองเจ้าค่ะ
 

*** หากใครติดตามมาตลอดก็จะรู้ว่าในช่วงหลายปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาใหม่ งานตรวจสอบที่ควรจะได้ดี หรือแม้แต่ปริมาณการซื้อขายในแต่ละวัน ซึ่งหมายถึงเงินทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุน
ตลาดหุ้น มีแต่ถดถอยและตกต่ำลง จนนักลงทุนต่างก็พากันเอือมระอากับสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

แต่ล่าสุดการเข้ามาของ “พรอนงค์ บุษราตระกูล” ในฐานะของเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ “วรัชญา ศรีมาจันทร์”ในฐานะของรองเลขาธิการ ก.ล.ต. ดูเหมือนว่า จะทำให้อะไรๆ ที่เคยแย่มากๆ กลับเริ่มดูดี มี SHAPE ขึ้นมาตามลำดับ 

โดยเฉพาะในเรื่องของแนวทางการแก้ปัญหา Short Selling และ Program Trading ที่ทางผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามบอกมาตลอดว่า “ไม่มีปัญหาอะไร! ทั้งที่ไม่ว่าใครต่อใคร ต่างก็รับรู้ว่า มีปัญหามากมายต่อตลาดหุ้นที่ทรุดตัว มูลค่าการซื้อขายเบาบาง” ยกเว้น ผจก. รายนี้เพียงคนเดียว 

กล่าวเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ “วรัชญา ศรีมาจันทร์” ซึ่งเป็นผู้มีส่วนผลักดันให้ปรับเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกรรม Short Selling (SS) เพื่อการเพิ่มคุณภาพหุ้นที่สามารถทำ SS เพิ่มเงื่อนไขของหุ้นกลุ่ม Non-SET100 

รวมไปถึงปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (trading rules) เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ โดยเพิ่มการใช้ราคาขายชอร์ตที่ต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เมื่อราคาหุ้นลดลงตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของราคาปิดวันก่อนหน้า กำหนด เพดานขายชอร์ตรายหลักทรัพย์รายวัน, เปิดเผยยอดขายชอร์ตคงค้างรายวัน (Outstanding short position) จนทำให้มีหุ้นที่ทำ SS ได้ลดลงเหลือ 28% ของตลาด จนทำให้มีการทำ SS น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด!

เจ๊เมาธ์ก็ขอให้กำลังใจทีมงานคุณภาพให้ทำงานให้ดี และมีคุณภาพต่อไปนะคะ อย่างที่บอก...ทำดีก็ต้องชม ทำไม่ดี ก็ต้องว่า คนทำงานถ้าทำดี ก็ต้องการกำลังใจกันค่ะ

 *** สำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากเรื่องของวิธีการทำงาน และผลการดำเนินงาน ก็ยังมีเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่บริษัทส่วนใหญ่มักจะทำผ่านทางบริษัทพีอาร์เอเจนซี่ ซึ่งล่าสุดวงการพีอาร์มีความเคลื่อนไหวชนิดทอล์ค ออฟเดอะทาวน์ ที่อาจจะดูเหมือนเรื่องเล็กในสายตาคนนอก...แต่กลับไม่เล็กสำหรับคนในวงการพีอาร์ด้วยกันเอง

เพราะมีความชัดเจนแล้วว่า พี่น้อง 2 ป. ซึ่งแต่ละคนล้วนแล้วแต่เคยสังกัดอยู่ในบริษัทพีอาร์เอเจนซี่รายใหญ่ 2 แห่ง ได้ออกมาร่วมกันตั้งสำนักพีอาร์ของตนเอง ด้วยการสนับสนุนจากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ชื่อ ฟินๆ พร้อมกันนี้ พี่น้องทั้งคู่ต่างก็ได้ดูดเอาลูกค้าของบริษัทที่ตนเอง เคยทำงานตามออกมาในลักษณะที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับต้นสังกัดเดิมสักเท่าไหร่ จนทำให้เกิดมีแรงกระเพื่อมตามมาอย่างอื้ออึง

 “ป. คนพี่” ได้ดึงเอา COCOCO-TEKA-MASTER ตามออกมา ขณะที่ “ป. คนน้อง” ก็ได้ดึงเอา “PCC-PRM” ตามออกมาด้วยเช่นกัน 

งานนี้ถ้าหากเป็นเพียงเรื่องของลูกค้าหมดสัญญาแล้วย้ายสังกัด ก็ไม่มีปัญหา แต่กรณีนี้ดูแล้วน่าจะไม่ใช่ซะแล้ว นัยว่าเนื่องจากพี่น้องคู่นี้ เป็นคนในที่ถูกมอบหมายให้ดูแล จึงได้รู้ต้นทุนว่า อยู่ที่เท่าไหร่ การตั้งใจที่จะ “หักกัน” ตัดราคานั่นเอง

แน่นอนว่า ปัญหามันไม่ใช่เรื่องของตัวเงิน หรือ รายได้ที่หายไปของอดีตบริษัทต้นสังกัด แต่สิ่งสำคัญมันเป็นเรื่องของการเสียความรู้สึก และความเชื่อใจที่บริษัทต้นสังกัดเคยมอบหมายให้ทั้ง 2 ป. ดูแลลูกค้าของตัวเอง และดูแลลูกค้าให้กับพันธมิตร แต่กลับเหมือนอดีตต้นสังกัดโดนสองศรีพี่น้อง ซึ่งไปจับมือบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ว่า “แอบทำร้าย” ในที่ลับตาซะอย่างนั้น 

เจ๊เมาธ์...เริ่มเห็นสัญญาณว่าปัญหาถูกมองว่าเล็กๆ เรื่องนี้ อาจไม่จบลงได้ง่ายๆ และมีแนวโน้มว่า อาจลุกลามไปหาทั้ง COCOCO- MASTER- PCC-PRM -TEKA และอาจลามไปถึงบริษัทปรึกษาทางการเงินผู้สนับสนุนก็ได้นะเจ้าค่ะ! 

อย่าได้ลืมว่า “นกไม่มีขนคนลืมบุญคุณ...บินสูงไม่ได้” และตอนนี้มีหลายคนที่เจ๊เมาธ์รู้จักต่างก็เกิดความรู้สึกและมองกันว่าการถูกกระทำเช่นนี้ดูจะไม่เป็นธรรมและเป็นการจงใจทำจนเกินไป

ส่วนถ้าหากจะให้เจ๊เมาธ์ระบุว่าผลที่ตามมาจะเป็นไปในรูปแบบไหนเจ๊เองก็ไม่อาจจะไปรู้ได้นะคะ เอาเป็นว่าถ้าหากเจ๊รู้หรือเจ๊เห็น...เจ๊ก็จะนำมาเล่ามาอัพเดทเป็นรายๆ ไปให้ฟังก็แล้วกันค่ะ แต่สำหรับตอนนี้ทั้งเจ้านายลูกน้องและลูกค้าก็คงจะต้อง “ดื่มซุบไก่” เพื่อบำรุงสุขภาพในช่วงที่อากาศกำลังร้อนๆ รอไปก่อนก็แล้วกันเจ้าค่ะ อิอิอิ