ITD & JKN สลบ..สยบความเคลื่อนไหว!

06 มี.ค. 2567 | 00:30 น.

ITD & JKN สลบ..สยบความเคลื่อนไหว! : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,972 วันที่ 7 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2567

*** หลังสิ้นสุดช่วงเวลาแจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2566 ปรากฏว่า มีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 6 บริษัท ที่ไม่สามารถแจ้งผลการดำเนินงานได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด จนเป็นเหตุให้ตลาดฯ ต้องขึ้นเครื่องหมาย SP รวมถึงระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทเป็นการชั่วคราว ซึ่งบริษัทเหล่านี้ประกอบไปด้วย 

1. บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (JKN)

2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)

3. บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) (GL)

4. บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) (KKC)

5. บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) (MILL)

6. บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (PLE)

ว่ากันตามตรงสำหรับเจ๊เมาธ์แล้ว บริษัทอื่นๆ อาจจะไม่มีอะไรแปลกพิสดารมากนัก แต่สำหรับทั้ง JKN ของ “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” และ ITD ของ “เปรมชัย กรรณสูต” ซึ่งเจ๊เมาธ์ติดตามความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ทำให้เจ๊เมาธ์พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัททั้งสองเป็นเรื่องที่ไม่เหนือไปกว่าสิ่งที่เจ๊เคยคิดเอาไว้ 

เพราะทั้งสองบริษัท ต่างก็เป็นบริษัทที่ไม่สามารถดำเนินการชำระเงินต้น และดอกเบี้ยหุ้นกู้ ได้ตามกำหนดเวลา จนทำให้ต้องขอเลื่อนกำหนดเวลาจ่ายเงินต้นออกไปอีก 2 ปี เช่นเดียวกัน ซึ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ก็น่าจะเป็นกรณีของการตอบสนองกับปัญหาของผู้บริหารของทั้งสองบริษัทนั่นเอง
 

 แน่นอนว่าอาจเป็นเพราะอายุ และประสบการณ์ที่แตกต่างจึงทำให้การตอบสนองเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน 

โดยในส่วนของ “เปรมชัย” จากค่าย ITD รายนี้ดูนิ่ง และ สุขุม เพราะเพิ่งจะหลุดพ้นออกมาจากคดีความเรื่องการล่าสัตว์ป่าอนุรักษ์ จนเป็นเหตุให้ถูกจองจำหลายปี ทำให้ “เปรมชัย” ดูจะเก็บตัวและหลีกเลี่ยงที่จะเป็นข่าว  

ในขณะที่ “แอน จักรพงษ์” จากฝั่งของ JKN กลับเลือกใช้วิธีทำให้ปัญหาที่เกิดกลายเป็นเรื่องเล็กด้วยวิธีการ “เกทับหรือคุยคำโต...โต้กระแส” ทำให้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะเดียวกันลึกๆ ก็ส่งทีมทนายหน้าหอเดินหน้าเอาเรื่องกับใครก็ตาม ที่ขุดคุ้ยเรื่องนี้อย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อทำให้มีคนพูดถึงน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ทั้ง ITD และ JNK ต่างก็อยู่ในช่วงเวลาของการขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวไปจนกว่าจะส่งงบการเงินที่ติดค้างอยู่ได้เช่นกัน 

ดังนั้น ในตอนนี้ก็คงทำได้แค่ตามดูว่า บริษัทไหนจะสลัดเครื่องหมาย SP เพื่อให้กลับเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติได้ก่อนกัน ก็เท่านั้นเอง อาจจะมีแตกต่างกันอยู่บ้างก็เรื่องที่ในฝั่งของ JKN ยังมีปัญหาที่ยังคงค้างเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูที่ไม่รู้ว่าศาลล้มละลายกลางท่านจะว่าอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เจ๊เมาธ์บอกได้เลยว่า ทั้งสองบริษัทนี้น่ากลัวเกินไปเจ้าค่ะ

*** ดูเหมือนว่าการเลื่อนกำหนดเวลาจ่ายเงินต้นออกไปอีก 2 ปี รวมไปถึงเสนอปรับขึ้นดอกเบี้ย จะกลายเป็นเทรนด์ยอดฮิตของบริษัทที่ไม่สามารถดำเนินการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ตามกำหนดเวลาขึ้นมาจริงๆ แล้ว เพราะล่าสุด บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN ก็เป็นอีกบริษัทที่เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอมติอนุมัติขยายเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันออกไปอีก 2 ปี 

พร้อมทั้งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 6.50% เป็น 7.00% เช่นเดียวกับที่ทั้ง JKN และ ITD ได้เดินหน้าสร้างบรรทัดฐานเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว อาจจะแตกต่างกันไปบ้างก็ตรงที่กรณีของ PROEN กลายเป็นข่าวขึ้นมาหลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ได้มีมติอนุมัติเรื่องที่ขอไปแล้ว ในขณะที่บริษัทอื่น ก่อนหน้านี้เป็นข่าวก่อนที่จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม...คราวนี้เจ๊เมาธ์คงจะไม่วิเคราะห์อะไรให้ฟัง เพราะเรื่องที่เคยพูดก็ได้พูดไปหมดแล้ว จะยังเหลืออยู่ก็แค่รอดูว่า จะมีบริษัทใดที่จะเดินตามกระแสนี้อีกบ้างก็เท่านั้นเอง และถ้ามีข้อมูลใหม่เจ๊เมาธ์ก็ไม่พลาดที่จะเอามาเล่าให้ฟังแน่นอนอยู่แล้วค่ะ

*** หลังจากที่กระแสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ราคาหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง DELTA KCE HANA และอื่นๆ อีกหลายตัวปรับขึ้นแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้กระแสรถไฟฟ้าก็กลับมาทำให้ราคาหุ้นเหล่านี้ถอยหลังลงไป

โดยมีมูลเหตุมาจากสงครามข้อมูลข่าวสาร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยโน้มเอียงไปทางรถไฟฟ้าของค่ายตะวันตกอย่าง Tesla แต่ตอนนี้เมื่อกระแสและยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla เริ่มสู้กระแสและยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายจีนไม่ได้ ทิศทางของข่าวที่เคยเชียร์ก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการด้อยค่ารถยนต์ไฟฟ้า 

ขณะเดียวกัน ก็มีการงัดเอากระแสของรถยนต์ Hybridge และ Hydrogen เพื่อมากลบกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่กำลังแรง นัยว่าเป็นการ “เตะตัดขา” ก็อาจจะเรียกได้ ซึ่งนี่ก็กลายเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยรุ่ง เพราะอิงอยู่กับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า ที่แม้ว่าตอนนี้กำไรจะยังดีเหมือนที่เคย แต่ก็ต้องมีอันต้องมาซวยตามไปด้วย เพราะสงครามข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

*** การที่ RABBIT จะขายหุ้น SINGER คืนให้กับ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” แห่งค่าย JMART ในราคา 20 บาท/หุ้น จำนวนทั้งหมด 195.1 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 3,900 ล้านบาท จากที่เคยซื้อมาในราคา 36.30 บาท/หุ้น ดูไปแล้วก็อาจเป็นเหมือนการขายขาดทุน

แต่หากมองไปที่ราคาหุ้นหน้ากระดานของ SINGER ที่มีมูลค่าแค่ไม่ถึง 10 บาท/หุ้น แน่นอนว่าข้อตกลงนี้มีอะไรลึกๆ ซ่อนอยู่ เพราะมีเงื่อนไขสำคัญในการซื้อขายอยู่ 2 ข้อกำกับเอาไว้นั่นก็คือ 

1. หาก “อดิศักดิ์” ไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งหมดภายในระยะเวลา 3 ปี ของสัญญา คุณอดิศักดิ์ต้องชำระค่าปรับให้แก่ RABBIT 400 ล้านบาท

2. หากราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายสูงกว่า 20 บาท เป็นเวลา 5 วัน RABBIT มีสิทธิ์ขายหุ้นที่ถูกปฏิเสธให้แก่บุคคลภายนอก

ว่ากันตามตรง หากวิเคราะห์จากปัจจัยทั้ง 2 ข้อ ก็จะพบว่า การที่ขายหุ้นได้ราคาที่สูงกว่าราคาหุ้นหน้ากระดานเกือบเท่าตัว กลายเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้ง RABBIT และ SINGER ด้วยกันทั้งสองฝ่าย 

โดยทาง RABBIT ได้ปล่อยของในราคาสูงกว่าราคาหุ้นหน้ากระดานถึงกว่าเท่าตัว ขณะที่ทาง “อดิศักดิ์” ก็ยังไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะต้องรอไปจนกว่าจะครบตามเวลาดีลในอีก 3 ปีข้างหน้าโน้นเลย รวมไปถึงทั้ง RABBIT และ SINGER ก็จะได้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับคืนมา โดย RABBIT ก็จะไม่ต้องขายของถูกเกินไป 

ส่วนทาง “อดิศักดิ์” และ SINGER ก็ได้โชว์ความมั่นใจว่าราคาหุ้นจะกลับขึ้นไปได้อีกครั้ง ก็ไม่มีอะไรมาก....เกมการเงินมันก็มีอยู่เพียงเท่านี้ สรุปความก็คือ เรื่องของการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนก็เท่านั้นเองเจ้าค่ะ อิอิอิ