Khmer Times รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2568 ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จัดตั้งคณะกรรมการระดับสูง เพื่อเตรียมการนำข้อพิพาทชายแดนเข้าสู่การพิจารณาของศาลโล ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของฝ่ายกัมพูชาในการผลักดันให้ข้อพิพาทชายแดนระหว่างสองประเทศเข้าสู่กระบวนการระหว่างประเทศ
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังสะท้อนถึงจุดยืนของรัฐบาลกัมพูชาที่ต้องการใช้ “บุคคลที่สาม” หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาชี้ขาดข้อพิพาทเขตแดน แทนที่จะพึ่งพาเฉพาะกลไกทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ซึ่งมีกำหนดประชุมกันในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ณ กรุงพนมเปญ โดยมีฝ่ายกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ
ข้อพิพาทที่กัมพูชาเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโลก ได้แก่ พื้นที่บริเวณ ปราสาทตาเมือนธม, ปราสาทตาเมือนโต๊จ, ปราสาทตากระเบย และพื้นที่มอมเบย (หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ช่องบก หรือสามเหลี่ยมมรกต) โดยนายฮุน มาเนต ได้ประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการต่อที่ประชุมร่วมระหว่างวุฒิสภาและสมัชชาแห่งชาติของกัมพูชา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา
แม้รัฐบาลไทยจะยังต้องการใช้กลไก JBC เป็นเครื่องมือหลักในการหารือและแก้ปัญหาชายแดน แต่ฝ่ายกัมพูชาได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจชื่อว่า
“Committee to Prepare Documents for Filing a Case with the International Court of Justice Regarding the Areas of Mom Bei, Ta Moan Thom Temple, Ta Moan Tauch Temple, and Ta Krabei Temple”
หรือชื่อภาษาไทยว่า
“คณะกรรมการเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับพื้นที่มอมเบย ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊จ และปราสาทตากระเบย”
ประธานกรรมการ นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา มีอำนาจในการดำเนินการในนามราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
คณะกรรมการนี้จะเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของกัมพูชาในทุกขั้นตอนของกระบวนการ ตั้งแต่การยื่นคำร้อง จนถึงการพิจารณาและตัดสินคดี
มีหน้าที่คัดเลือกที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศเพื่อนำคดีต่อสู้ในกรุงเฮก พร้อมประสานงานกับคณะทำงานด้านกฎหมายและการทูตในการจัดทำเอกสารและดำเนินการที่จำเป็นทั้งหมด
คณะทำงานย่อยมี 2 คณะ
คณะทำงานด้านกฎหมาย นำโดยนายคีต ริธ (Koeut Rith) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
คณะทำงานด้านการทูต นำโดยนางอีต โซเฟีย (Eat Sophea) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 2014–2017
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา นายปรัก สุคน ได้ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการถึง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยยืนยันว่าการชี้ขาดโดยศาลโลก (ICJ) คือแนวทางที่จำเป็นในการแก้ไขข้อพิพาทเขตแดนที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน
เนื้อหาในจดหมายระบุว่า กลไกทวิภาคีในปัจจุบันอาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้เพียงพอ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ปะทะกันบริเวณ “ช่องบก” เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย
การอนุญาโตตุลาการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเพื่อนบ้านทั้งสองในการแก้ไขข้อพิพาทชายแดนที่ยืดเยื้อมานาน โดยอ้างว่ากลไกทวิภาคีที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขได้ จะเห็นได้จากเหตุปะทะช่องบก