ศาลอาญาโลกเสนอออกหมายจับ “เนทันยาฮู” พร้อม 3 แกนนำกลุ่มฮามาส

21 พ.ค. 2567 | 08:21 น.

หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เปิดเผยว่า เขาต้องการให้เกิดการออกหมายจับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายโยอาฟ กัลเเลนต์ รัฐมนตรีกลาโหม และแกนนำกลุ่มฮามาสอีก 3 คน ที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส

นายคาริม คาน หัวหน้าอัยการของ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เสนอการ ออกหมายจับ ผู้นำอิสราเอลและแกนนำกลุ่มฮามาส กล่าวระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (20 พ.ค.) ว่า คณะทำงานของเขาเชื่อว่า นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯอิสราเอล และนายโยอาฟ กัลเเลนต์ รมว.ต่างประเทศ มีส่วน “รับผิดชอบทางอาญา” ต่อ อาชญากรรมสงคราม และ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการทำให้พลเรือนจำนวนมหาศาลในฉนวนกาซาต้องอยู่ในสภาพขาดเเคลนอาหาร ซึ่งเป็นวิธีการทำสงครามที่จงใจพุ่งเป้าการโจมตีไปสู่พลเรือน

"สำนักงานของผมเสนอว่า การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการในภาพรวมที่มุ่งใช้การขาดแคลนอาหารเป็นยุทธวิธีหนึ่งของสงครามและการกระทำรุนเเรงอื่น ๆ ต่อพลเรือนในกาซา เพื่อหวังจะกำจัดฮามาส และให้มีการปล่อยตัวประกันที่ฮามาสจับไป และเพื่อลงโทษประชากรที่เป็นประชาชนของกาซา ซึ่งอิสราเอลมองว่าเป็นภัยต่ออิสราเอล" คานระบุในเเถลงการณ์

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯอิสราเอล

กรณีของแกนนำฮามาสนั้น ศาล ICC ต้องการให้ออกหมายจับเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ถูกระบุว่า มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเช่นกัน ซึ่งรายชื่อของ 3 แกนนำฮามาสที่ ICC ต้องการให้ออกหมายจับ ได้แก่ นายยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาสเบอร์1 และนายโมฮัมเมด ดิอับ อิบราฮิม อัลมาซรี ผู้นำทางด้านการทหาร และนายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่ม

“ข้อกล่าวหาต่อแกนนำฮามาสเหล่านี้ รวมถึงการสังหารผู้อื่น การจับตัวประกัน ข่มขืน ทรมาน และความรุนเเรงอื่น ๆ” คาริม คานระบุ

"บุคคลเหล่านี้วางแผนและยุยงให้เกิดการก่ออาชญากรรมในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และหากพิจารณาถึงการกระทำของพวกเขา เช่นการเดินทางเป็นการส่วนตัวเพื่อไปพบตัวประกันหลังจากที่พวกเขาถูกลักพาตัว ถือเป็นการรับทราบถึงความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านี้ต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น"

ทั้งนี้ ICC มีสมาชิก 124 ประเทศ แต่ไม่รวมอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ที่เป็นพันธมิตรหลักของรัฐบาลอิสราเอล นอกจากนี้ จีนและรัสเซีย ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC ซึ่งเป็นองค์กรยุติธรรมระหว่างประเทศ

หากประเทศใดเป็นสมาชิกของ ICC รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องจับกุมตัวบุคคลที่ศาล ICC ต้องการตัวโดยทันที โดยศาล ICC ไม่มีเครื่องมือที่จะบังคับใช้การออกหมายจับ

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ศาลอาญาระหว่างประเทศ ถือเป็นองค์กรยุติธรรมที่เป็นที่พึ่งสุดท้าย เมื่อรัฐไม่ยินยอม หรือขาดความสามารถอย่างเเท้จริงในการดำเนินการทางกฎหมายเอง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ข้อหาการก่ออาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซากำลังเข้ากระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงภายในประเทศอิสราเอล

ข่าวระบุว่า ในหลายกรณี แม้ประเทศสมาชิก ICC เองก็ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีเมื่อเขาเหล่านั้นอยู่ในดินเเดนของตน หนึ่งในกรณีที่ล้มเหลว ได้แก่ คดีของนายโอมาร์ บาเชียร์ อดีตประธานาธิบดีซูดาน ที่ ICC ต้องการตัวตั้งเเต่ปี 2005 จากข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

หลังมีรายงานข่าวดังกล่าวออกมา นายไอแซค เฮอร์ซอก ประธานาธิบดีอิสราเอล ออกมาแสดงความเห็นว่า  คำประกาศเตรียมออกหมายจับนายเนทันยาฮูโดย ICC เป็นสิ่งที่ “อุกอาจอย่างมาก”  และแสดงให้เห็นว่า อำนาจของระบบตุลาการศาลระหว่างประเทศ กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายใกล้ล่มสลาย

กระนั้นก็ตาม หากว่ามีการออกหมายจับผู้นำอิสราเอลจริง อย่างน้อยประเทศสมาชิกศาล ICC ซึ่งรวมถึงประเทศสหภาพยุโรปเกือบทุกประเทศ อาจต้องเผชิญความยากลำบากทางการทูตกับอิสราเอล

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ออกมาประณามการตัดสินใจของอัยการ ICC ที่ทำให้กรณีการโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบโดยกลุ่มฮามาส รวมทั้งการลักพาตัวผู้คนนับร้อยไปเป็นตัวประกันเมื่อเช้าตรู่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 มีความเลวร้ายเท่ากับการดำเนินปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในเขตฉนวนกาซา

“การยื่นเรื่องโดยอัยการของ ICC เพื่อขอออกหมายจับผู้นำอิสราเอลนั้น อุกอาจยิ่ง และผมขอพูดให้ชัดเจนเลยว่า ไม่ว่าอัยการท่านนี้จะพยายามสื่ออะไรออกมา ก็ไม่สามารถเทียบเคียงกันได้เลยแม้แต่นิดเดียว ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส” ผู้นำสหรัฐระบุในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (20 พ.ค.)

สอดคล้องกับท่าทีของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื้อหาระบุว่า การที่ ICC นำอิสราเอลมาเปรียบเทียบกับฮามาสถือเป็นสิ่งที่ “น่าละอาย” เพราะฮามาส คือ องค์การก่อการร้ายสุดเหี้ยมโหดที่ทำการฆาตกรรมหมู่ชาวยิวอย่างเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่การสังหารหมู่ชาวยิวนับล้านในยุโรป (Holocaust) นอกจากนี้ ยังจับผู้บริสุทธิ์นับร้อยคนซึ่งรวมถึงชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งไปเป็นตัวประกัน

สงครามอิสราเอล-ฮามาสเริ่มต้นจากการที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566

ทั้งนี้ สงครามอิสราเอล-ฮามาสเริ่มต้นจากการที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวเข้าใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 คน และยังจับตัวประกันไปอีก 253 คนไป แต่หลังจากนั้น กองทัพอิสราเอลก็ได้เปิดปฏิบัติการตอบโต้โดยระดมบุกหนักในฉนวนกาซา ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปกว่า 35,386 คน (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขกาซา) ซึ่งตัวเลขนี้รวมถึงพลเรือนทั้งเด็กและสตรี และนักรบฮามาส

ขณะที่อิสราเอลกล่าวว่า ฝ่ายตนได้ปลิดชีพนักรบในปาเลสไตน์ไปแล้วมากกว่า 14,000 คน และสังหารพลเรือนไปประมาณ 16,000 คน

นายบัลคีส์ จาร์ราห์ รองผู้อำนวยการด้านงานยุติธรรมระหว่างประเทศขององค์กร ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch) ได้แถลงแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจดำเนินการดังกล่าวของ ICC และระบุในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (20 พ.ค.) ว่า ก้าวแรกตามหลักการนี้ของอัยการ ได้เปิดประตูไปยังผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้ออกมารับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขาเองในการไต่สวนอันยุติธรรม

ด้านกลุ่มฮามาสซึ่งสหรัฐ อังกฤษ และหลายประเทศ ประกาศให้มีสถานะเป็น “องค์การก่อการร้าย” ได้ประณามการที่ ICC ต้องการให้ออกหมายจับผู้นำกลุ่มของตน ทั้งยังกล่าวหาว่า นายคาริม คาน อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศว่า พยายามทำให้เหยื่อ (ฮามาส) ดูเป็นเหมือนเพชฌฆาต และยังระบุในแถลงการณ์ว่า กลุ่มของตนมีสิทธิ์ที่จะต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล