งบกองทัพทั่วโลกพุ่งทะลุนิวไฮ "กลาโหมไทย" ใช้จ่ายอันดับ 38 ของโลก

22 เม.ย. 2567 | 10:52 น.

เปิดงบกองทัพทั่วโลกพุ่งทะลุนิวไฮ โดยเพิ่มขึ้นในรอบ 15 ปี แตะ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่เอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 10 ปี แตะ 4.11 แสนล้านดอลลาร์ จากความตึงเครียดระหว่างจีน - ไต้หวัน ส่วน "ไทย" ใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นอันดับ 38 ของโลก

ความขัดแย้งในรอบปีที่ผ่านมาและอาจมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องของ สงครามการสู้รบระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลบริเวณฉนวนกาซา และการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีรูปแบบเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ถูกจับตาในช่วงปี 2567 

ภาพรวมงบด้านการทหารโลกปี 2566 จากรายงานล่าสุดของสถาบันวิจัยด้านสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI)  ในสวีเดน ระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ (22 เม.ย.) ว่า ในปี 2566 โลกใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.8% สู่ระดับ 2.443 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นปีที่งบกลาโหมเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 15 ปี และเป็นปีที่ทุกภูมิภาคเพิ่มการใช้จ่ายทางทหาร

การใช้จ่ายทางทหารในเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้น 6.2% ในปี 2566 แตะระดับ 4.11 เเสนล้านดอลลาร์

ค่าใช้จ่ายทางการทหารเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค

รายจ่ายทางการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552 ที่รายจ่ายทางการทหารเพิ่มขึ้นในทั้ง 5 ภูมิภาค เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป เอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลาง

สะท้อนว่า การใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นการตอบสนองโดยตรงต่อการเสื่อมถอยของสันติภาพและความมั่นคงทั่วโลก ประเทศต่างๆ กำลังให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งทางการทหาร แต่ก็เสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาในทางภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงที่มีความผันผวนมากขึ้น

 

ความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครนทำให้ช่องว่างการใช้จ่ายกับรัสเซียแคบลง

การใช้จ่ายทางทหารของรัสเซียเพิ่มขึ้น 24 % ประมาณ 1.09 เเสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 57 %นับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่รัสเซียผนวกไครเมีย ในปี 2566 การใช้จ่ายทางทหารของรัสเซียคิดเป็น 16 %ของการใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมด และภาระทางทหาร (การใช้จ่ายทางทหารต่อส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ, GDP) อยู่ที่ 5.9% 

ยูเครนเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายมากเป็นอันดับ 8 ในปี 2566

หลังจากการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 51% แตะที่ 6.48 หมื่นล้านดอลลาร์ สิ่งนี้ทำให้ยูเครนมีภาระทางทหาร 37% และ 58% ของการใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมด ในปี 2566 การใช้จ่ายทางทหารของยูเครน คิดเป็น 59 % เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายรัสเซีย

ยูเครนยังได้รับความช่วยเหลือทางทหารอย่างน้อย 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในระหว่างปี ซึ่งรวมถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ เมื่อรวมกันแล้วความช่วยเหลือนี้และการใช้จ่ายทางทหารของยูเครนเทียบเท่ากับประมาณ 91 % ของการใช้จ่ายของรัสเซีย

สหรัฐฯ เป็นผู้ใช้จ่ายรายใหญ่ของ NATO แต่ยุโรปก็มีส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้น

ในปี 2566 สมาชิก NATO 31 ราย คิดเป็นมูลค่า 1,341 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 55 % ของรายจ่ายทางการทหารทั่วโลก การใช้จ่ายด้านการทหารของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.3 % แตะ 9.16 เเสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 คิดเป็น 68 % ของการใช้จ่ายทางทหารทั้งหมดของ NATO

ในปี 2566 สมาชิก NATO ในยุโรปส่วนใหญ่เพิ่มค่าใช้จ่ายทางการทหาร อยู่ที่ 28 % เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษ 

การใช้จ่ายกลาโหมของจีน

จีนเป็นผู้ใช้จ่ายด้านกลาโหมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ คาดว่าจีนมีการใช้จ่ายประมาณ 2.96 เเสนล้านดอลลาร์ ในปี 2566 เงินทุนทางทหารทำให้งบประมาณของกองทัพเพิ่มขึ้น 6% โดยเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 29 ติดต่อกันแล้ว

การใช้จ่ายของจีนสูงกว่าที่กระทรวงการคลังระบุไว้ที่ 2.24 เเสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากสถาบัน คาดว่าเป็นการใช้จ่าย ด้านเงินทุนวิจัย และพัฒนาหน่วยยามฝั่งและการทหาร 

ทั้งนี้ การใช้จ่ายทางทหารของจีนคิดเป็น 12% ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก และ 50% อยู่ในภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนีย

การใช้จ่ายกลาโหมของไต้หวัน

ไต้หวันใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2566 สู่ระดับ 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากเกาะแห่งนี้ต้องรับมือกับภัยคุกคามจากรัฐบาลปักกิ่ง 

ไต้หวันได้จัดตั้งกองทุนนอกงบประมาณในปี 2563 และในปี 2565 ได้จัดสรรงบสำหรับเครื่องบินรบ และระบบในกองทัพเรือ โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีสัดส่วนเป็น 21% ของการใช้จ่ายทางทหารของไต้หวันในปี 2566

การใช้จ่ายกลาโหมของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นใช้จ่ายทางทหารราว 50.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11% ถือเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2515 เป็นงบสร้างกองทัพที่มากที่สุดของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2

งบดังกล่าวมีแผนใช้จ่ายในกองทัพ 3.1 เเสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2566-2570 โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการตอบโต้การโจมตี ด้วยการลงทุนสร้างเครื่องบิน เรือ และขีปนาวุธพิสัยไกล

ไทยใช้จ่ายกลาโหม 5,800 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 38 ของโลก 

ไทย มีการใช้จ่ายทางทหารอยู่อันดับที่ 38 ในปี 2566 โดยมีงบประมาณใช้จ่ายอยู่ที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อนหน้า 6.5% และคิดเป็น 1.2% ของ GDP 

 

การใช้จ่ายกลาโหมในประเทศอื่น

ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างเกาหลีใต้ ใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 1.1% สู่ระดับ 4.79 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ออสเตรเลียใช้จ่ายกลาโหมลดลง 1.5% สู่ระดับ 3.23 หมื่นล้านดอลลาร์

ที่มา 

TRENDS IN WORLD MILITARY EXPENDITURE, 2023