เปิดรายงานลับวุฒิสภา ให้สถานะทางกฎหมายผู้หนีภัยเมียนมา

08 เม.ย. 2567 | 08:13 น.

เปิดรายงานผลการศึกษา วุฒิสภา แก้ปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบ-ผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา ไม่ให้ยืดเยื้อ-ระยะยาว ออกมาประกอบอาชีพได้-ให้สถานะทางกฎหมายเหมือนบุคคลบนพื้นที่สูง-ไร้สัญชาติ

KEY

POINTS

  • เปิดข้อพิจารณา-ข้อเสนอของ กมธ.คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา แก้ปัญหาผู้หนี้ภัยจากเมียนมาในไทย
  • ชี้ เปิดทางออกมาประกอบอาชีพได้-ให้สถานะทางกฎหมาย อย่างเช่นบุคคลบนพื้นที่สูง-บุคคลไร้สัญชาติ 
  • ใช้กลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) แก้ปัญหาระยะยาว

สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมามีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น จนหลายฝ่ายเกิดความกังวลไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีพรมแดนชายแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตร

สภาล่างอย่างสภาผู้แทนราษฎร ที่มี “นพดล ปัทมะ” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (กมธ.) ได้มีข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อ คือ

  • รีบตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด 
  • มีแผนรองรับผู้อพยพหนีภัยสงครามและผลกระทบการสู้รบในเมียนมา
  • ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทั้งคนเมียนมาและชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลจากการสู้รบ 
  • ผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาโดยผ่านกลไกทรอยก้าพลัส ไทยควรเป็นหัวหอกเชิญประธานอาเซียน จีน อินเดีย เข้ามาผลักดันการเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมา 

เปิดรายงานลับวุฒิสภา ให้สถานะทางกฎหมายผู้หนีภัยเมียนมา

ขณะที่สภาสูง-วุฒิสภา (สว.) มีคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ที่มี “พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์” เป็นประธาน 

โดยได้สรุปรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผู้หนี้ภัยการสู้รบจากเมียนมาและผู้หนีภัยจากความไม่สงบจากเมียนมาในประเทศไทย ของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย มี “ถวิล เปลี่ยนศรี” อดีตเลขาธิการ สมช.เป็นประธานอนุกรรมาธิการ

การทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้มีการประชุมไปทั้งสิ้น 4 ครั้ง เชิญผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติมาให้ข้อมูล และการเดินทางไปดูงานที่จังหวัดตาก

รายงานการศึกษาดังกล่าวได้สรุปความเป็นมา ปัญหาและผลกระทบจากผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียมา (ผภร.) และผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา (ผภสม.) การดำเนินการของรัฐบาลไทย นโยบายและการแก้ไขปัญหา รวมทั้งข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะ 

เปิดรายงานลับวุฒิสภา ให้สถานะทางกฎหมายผู้หนีภัยเมียนมา

โดยมีข้อพิจารณามีทั้งหมด 5 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 3.3 ที่ระบุว่า มีความจำเป็นต้องแสวงหาทางแก้ไขปัญหา ผภร. ไม่ให้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อต่อไป วิธีการแก้ไขปัญหาของ ผภร. ในอดีตถึงปัจจุบัน คือ 1.การอำนวยความสะดวกให้เดินทางกลับโดยความสมัครใจ และ 2.การส่งไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ซึ่งทั้งสองวิธีนี้อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหา ผภร.ที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่พักพิงได้ เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในประเทศเมียนมามีแนวโน้มที่จะดำรงต่อไปเป็นระยะเวลานาน 

“จึงสมควรพิจารณาหามาตรการแนวทางอื่น ๆ แก้ไขปัญหา ผภร.ตกค้าง อาทิ การพิจารณาให้ออกมาประกอบอาชีพได้ และการพิจารณาให้สถานะทางกฎหมาย อย่างเช่นที่ทางรัฐบาลไทยได้ดำเนินการต่อบุคคลบนพื้นที่สูงซึ่งเคยเป็นบุคคลไร้สัญชาติแต่ได้พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน”เอกสารรายงานผลการศึกษาฯระบุ

ขณะที่ข้อ 3.5 ระบุว่า การแก้ไขปัญหา ผภร.และ ผภสม. ในประเทศไทยที่มีผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน คือ การเสริมสร้างให้พื้นที่บริเวณชายแดนเมียนมามีความสงบ สันติ และพัฒนา 

ทั้งนี้ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับการอยู่ดีกินดีของประชาชนในเขตเมียนมา ซึ่งในระยะยาวการพัฒนาตามยุทธศาสตร์นี้จะสามารถแก้ไขปัญหาชายแดนได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง ยาเสพติด การค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบและปัญหาผู้พลัดถิ่นภายในเมียนมา (IDPs) ได้อีกด้วย 

ในลำดับแรกรัฐบาลปัจจุบันของเมียนมาและชนกลุ่มน้อยจะต้องร่วมกันเสริมสร้างความปรองดองกันในชาติให้ได้เสียก่อน

เปิดรายงานลับวุฒิสภา ให้สถานะทางกฎหมายผู้หนีภัยเมียนมา

สำหรับข้อเสนอแนะ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สมช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม ร่วมกันศึกษาและทบทวนแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและครอบคลุมทุกมิติ โดยไม่ให้ปัญหาเรื้อรัง

ให้กองทัพและฝ่ายปกครองดำรงแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาไว้ เช่น การปฏิบัติการด้านการข่าว การควบคุม ผภสม. ไว้ในพื้นที่พักรอตามหลักมนุษยธรรม การแยกกลุ่ม การควบคุมโรคระบาด การเลี้ยงดูขั้นพื้นฐาน การส่งกลับภูมิลำเนาในเขตเมียนมาเมื่อสถานการณ์ปลอดภัย พร้อมทั้งควบคุมดูแลกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาในพื้นที่ไม่ให้มีกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมา 

ทั้งนี้ รายงานผลการศึกษาดังกล่าวจะเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบรายงานในวันที่ 9 เมษายนนี้ หลังจากนั้นจะแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป