เหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะรอด "ภาวะถดถอย” ในปีนี้

13 ก.พ. 2567 | 17:09 น.

ในการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ล่าสุดพบว่า ส่วนใหญ่เชื่อสหรัฐอเมริกาจะพ้นปากเหว "เศรษฐกิจถดถอย" มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในปีนี้ และต่อไปนี้คือเหตุผล รวมทั้งสิ่งที่ยังคงเป็น "ปัจจัยเสี่ยง" ที่อาจทำให้สถานการณ์พลิกผัน

 

ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำโดย National Association of Business Economics (NABE) ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (12 ก.พ.) พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่ที่ตอบคำถามการสำรวจ เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้จะไม่เข้าสู่ ภาวะถดถอย โดยมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจปี 2024 จะถดถอย โดยปัจจัยที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ เชื่อว่าเป็นปัจจัยที่มาจากภายนอกประเทศซึ่งรวมถึงประเด็นความขัดแย้งกับจีน มากกว่าปัจจัยภายในประเทศ เช่น ดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในอัตราสูง 

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนยังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปีนี้จะสูงกว่าระดับ 2.5% ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดตั้งเป้าเอาไว้

ในปี 2566 หลายฝ่ายประเมินว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จะหดตัวหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ถึงแม้เฟดจะเดินหน้านโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศเพื่อรับมือกับการปรับขึ้นของเงินเฟ้อมาตั้งแต่ปี 2564

เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาขยายตัวอย่างผิดคาด และอัตราการจ้างงานก็ปรับเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ปรับลดลงจากระดับสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2565 มาอยู่ที่ระดับเพียง 3.4% ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของสหรัฐก็กลับมาขยายตัว “อย่างผิดคาด” และอัตราการจ้างงานก็ปรับเพิ่มขึ้นด้วย โดยนายจ้างต่างพยายามหลีกเลี่ยงการปลดพนักงานมาโดยตลอดแม้ว่าดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์มีความหวังเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศของสหรัฐ ทั้งจากเงินเฟ้อที่ปรับลดลงและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้พวกเขาเชื่อว่าเฟดจะสามารถบรรลุสภาวะ "ซอฟต์แลนดิ้ง" ที่คาดหวัง คือสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้ลดลงมาได้โดยไม่ต้องเผชิญเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในระยะหลังนี้ชี้ให้เห็นว่า เฟดได้ยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทั้งยังส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้  

ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าจับตา

ถึงกระนั้น 6 ใน 10 ของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ตอบแบบสอบถามของ NABE ยังคงมีความกังวลอยู่บางประการ ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยอุปสรรคที่ส่งผลกระทบฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังฟื้นตัวได้ นั่นคือ

  • ประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ยังคงเป็นสิ่งที่อาจกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้อยู่ แม้โอกาสของการเกิดสงครามเต็มรูปแบบจะยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม
  • ประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ 97% ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสอบถามกการสำรวจของ NABEประเมินว่า อย่างน้อยก็มีโอกาสในระดับกลาง ๆ ที่ภาวะความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงกว่าระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับระดับ 77 ดอลลาร์ในเวลานี้ ทั้งยังน่าจะส่งผลกระทบก่อกวนการเดินเรือขนส่งทั่วโลกซึ่งจะทำให้ต้นทุนการขนส่งพุ่งสูงขึ้นด้วย
  • ประเด็นการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศสหรัฐฯเอง โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบคำถามการสำรวจ 85% มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567
  • อีกประเด็นที่หลายคนกังวลก็คือ สถานภาพทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านนโยบายงบประมาณ ที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า ควรจะมุ่งส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐหาทางลดการขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้ลงด้วย

ข้อมูลอ้างอิง