ปานปรีย์ ตั้ง ศูนย์มนุษยธรรมไทย-เมียนมา นำร่อง จ.ตาก จีน-สหรัฐ หนุนเต็มสูบ

30 ม.ค. 2567 | 03:10 น.

ปานปรีย์ ลงพื้นที่ จ.ตาก 8-9 กุมภาฯ นำร่อง พื้นที่ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไทย-เมียนมา เผย จีน-สหรัฐฯ เห็นด้วยตั้งแต่แนวคิด-เป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนเต็มที่

วันนี้ (30 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat: AMM Retreat) ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ว่า ได้มีการหารือในประเด็นสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งทางเมียนมาได้ส่งข้าราชการในระดับปลัดกระทรวงมาเข้าร่วม โดยทางการไทยเองได้เสนอพื้นที่สำหรับจัดตั้งการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาอย่างเป็นระยะๆ

นายปานปรีย์กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศไทยยังมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภากาชาดไทย สภากาชาดเมียนมา รวมถึงสภากาชาดระหว่างประเทศ ซึ่งสภากาชาดไทย และเมียนมาจะเข้ามาดำเนินการก่อน ส่วนสภากาชาดระหว่างประเทศจะเข้ามาทีหลัง โดยเหตุผลที่ต้องนำสภากาชาดเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ก็เพื่อให้การช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประชาชนเป็นไปเพื่อความโปร่งใส และปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง

นายปานปรีย์กล่าวว่า สำหรับการกำหนดเขตพื้นที่มนุษยธรรมนั้น จะไม่เริ่มจากพื้นที่ตลอดแนวชายแดน เพราะพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมานั้น มีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร (กม.) ดังนั้นจึงเริ่มจากพื้นที่ใน จังหวัดตาก ซึ่งวันที่ 8 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ จะลงพื้นที่ไปตรวจดูความเรียบร้อย โดยเหตุผลที่เลือก จ.ตาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก และมองว่าถ้าในส่วนนี้ประสบความสำเร็จก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ 

นายปานปรีย์กล่าวว่า ขณะที่มาตรการการป้องกันไม่ให้ประเทศที่สาม หรือประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น ได้มีการพูดคุยกับ หวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน และ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสองก็เห็นด้วยกับแนวทางที่ทางการไทยเป็นผู้ริเริ่ม ยืนยันว่า การจัดตั้งพื้นที่มนุษยธรรมนั้น ตั้งแต่ริเริ่มแนวคิด จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครปฏิเสธ 

นายปานปรีย์กล่าวว่า ส่วนหลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงสิทธิมนุษยชนในเมียนมานั้น หลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่กลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญ โดยมองว่าปัญหาความรุนแรงในเมียนมาเป็นปัญหาภายใน ซึ่งเมียนมาต้องแก้ไขด้วยตนเอง