“เศรษฐา” ประกาศไทยพร้อมเป็นเวทีกลาง “จีน-สหรัฐ” ถกครั้งประวัติศาสตร์

29 ม.ค. 2567 | 05:27 น.

นายกฯ “เศรษฐา” ประกาศไทยพร้อมเป็นประเทศกลาง เปิดเวที “จีน-สหรัฐ” หารือครั้งประวัติศาสตร์ โดยการพบกับ “หวัง อี้” ครั้งนี้ ไทย-จีน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือหลายมิติ เชิญประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เยือนไทย ปี 2568

วันนี้ (29 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน และคณะ โดยใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ถึงความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ในหลายมิติ

นายเศรษฐา กล่าวภายหลังการหารือว่า ประเทศไทยยืนยันเจตนารมณ์ให้การสนับสนุนการเป็นประเทศกลางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน คุยกันอย่างหลายมิติ ซึ่งต่อไปก็ยินดีให้การสนับสนุนในการเจรจาลักษณะนี้เกิดขึ้น

ขณะที่รมว.การต่างประเทศ ระบุว่า ตอนที่มีแนวคิดหารือกันได้มีการระบุว่าต้องเป็นประเทศในเอเชีย ทางจีนก็บอกเองเลยว่าต้องเป็นประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันดี มีมิตรไมตรีจิตที่ดีต่อกันมาโดยตลอด อีกทั้งถือเป็นการประชุมประวัติศาสตร์ครั้งแรก ๆ เลยก็ว่าได้

 

นายกรัฐมนตรี หารือ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน

 

สำหรับการหารือข้อราชการกับนายหวัง อี้ ครั้งนี้ รัฐบาลได้ได้มีการพูดคุยกันหลายมิติ หลังจากวานนี้ (28 มกราคม) ไทยและจีน ได้ลงนามความร่วมมือในการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ ฟรีวีซ่า ซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ถือว่าเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ที่จะครบ 50 ปีในปีหน้า

อีกยังส่งเสริมการท่องเที่ยว ถือเป็นความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างสูง ขณะเดียวกับนายหวัง อี้ ยังบอกว่าประเทศจีนมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยไปเที่ยวประเทศจีนมากขึ้น โดยได้มีการพูดคุยกันถึงจำนวนเที่ยวบินที่ยังไม่กลับเข้ามาสู่จำนวนปกติตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ที่มีจำนวน 2,000 เที่ยวบิน แต่ปัจจุบันมีแค่ 1,200 เที่ยวบิน และจะยกระดับการเดินทางระหว่างกันได้สะดวกสบายมากขึ้น 

ส่วนเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ ได้หารือร่วมกันถึงเรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากการตั้งโรงงานรถยนต์ EV รวมไปถึงการหารือเรื่องรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ที่มีปัญหาเรื่องศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ขณะที่ด้านสินค้าเกษตรกรรม จีนแสดงความต้องการค้าโคอย่างมาก แต่ด่านกักกันตรวจเชื้อโรคอยู่ที่ประเทศลาว ว่าทำให้การค้าไม่ค่อยสะดวก จึงได้เข้ามาหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา

 

นายกรัฐมนตรี หารือ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน

 

นายกฯ ระบุว่า ยังได้หารือเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งนายหวัง อี้ เอ่ยขึ้นมาเองว่า ประเทศจีนให้ความสนใจ แต่ว่าต้องขอข้อมูลเพิ่ม รวมถึงภาคเอกชนก็มีความสนใจ เพราะส่วนใหญ่ทราบดีถึงเหตุผลหลักที่ควรมีโครงการนี้ เพราะปัจจุบันบริษัทใหญ่ในจีนได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่มากในไทย เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออก ดังนั้นจึงต้องมีท่าเรือน้ำลึกมาสนับสนุน อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังจะเดินทางไปทำโรดโชว์ที่ประเทศจีนด้วย

ส่วนมูลค่าการค้าจะขยายตัวได้มากขึ้นเท่าใดนั้น นายกฯ ยอมรับว่า คงคาดเดาไม่ได้ แต่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนี่คือจุดเริ่มต้น เรามีความสัมพันธ์อันดีกันอย่างยาวนาน ขณะที่ปีหน้าก็ครบ 50 ปีด้วย ตนก็ได้เรียนเชิญประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้มาเยือนประเทศไทย

 

“เศรษฐา” ประกาศไทยพร้อมเป็นเวทีกลาง “จีน-สหรัฐ” ถกครั้งประวัติศาสตร์

 

ต่อมา นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญการหารือว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ 

ด้านการส่งเสริมสินค้าเกษตร นายกรัฐมนตรียินดีที่ในวันนี้จะมีการลงนามเอกสารเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยไปจีนจำนวน 2 ฉบับ 

ด้านการค้าและการลงทุน ไทยยินดีที่วิสาหกิจและภาคเอกชนจีนมาลงทุนในไทยเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยไทยพร้อมส่งเสริมการเติบโตของบริษัทจีนเพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดทั่วโลก ซึ่งนายหวัง อี้ เห็นพ้อง ซึ่งพร้อมให้จีนสนับสนุนเรื่องการพัฒนาศักยภาพ บุคลากรของไทย และถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ 

ด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชนและการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ โดยนายกรัฐมนตรีถือเป็นนิมิตรหมายอันดีระหว่างสองประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนในระยะยาว 

พร้อมเน้นย้ำว่า ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน รวมทั้งได้หารือถึงการส่งมอบหมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรีระหว่างจีนกับไทยอีกครั้งหนึ่ง ด้านนายหวัง อี้ เห็นพ้องโดยถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ โดยจะนำข้อเสนอนี้ หารือร่วมกันเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อสนับสนุนต่อไป 

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน จีนเห็นถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของโครงการ Landbridge ซึ่งจะหารือร่วมกับภาคเอกชนจีนที่สนใจและจะขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่จะจัด Road show และพร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งโครงการ Landbridge ถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจและยังสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ BRI เชื่อมเอเชียไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรปได้

จึงอยากให้จีนมีส่วนร่วมในโครงการที่สำคัญนี้ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความตั้งใจของฝ่ายไทยในการเร่งก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง และการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางไทย - ลาว – จีน 

ด้านการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะหาแนวทางร่วมกันเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างครอบคลุม โดยพร้อมร่วมมือกันในการสกัดกั้นและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ การพนัน ออนไลน์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ซึ่งนายหวัง อี้ ยืนยันว่า ทางจีนให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดยพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหา

ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาค ไทยเชื่อมั่นว่าจะเป็นตัวแทนในการรักษาเสถียรภาพ ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งนายหวัง อี้ ยืนยันว่าจีนพร้อมสนับสนุนไทยในการเป็นประธานกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในปี 2567 นี้ เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชาชนในภูมิภาค 

 

“เศรษฐา” ประกาศไทยพร้อมเป็นเวทีกลาง “จีน-สหรัฐ” ถกครั้งประวัติศาสตร์

 

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามเอกสาร 2 ฉบับจากความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสํานักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ 

  1. พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืช สำหรับการส่งออกต้นสนใบพาย จากประเทศไทยไปประเทศจีน 
  2. ความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกไทยไปจีน

โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เป็นผู้ลงนามฝ่ายจีน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสักขีพยานการลงนามพิธีสารฯ ดังกล่าว พร้อมนายหวัง อี้ และนายจักรพงษ์ แสงมณี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย

 

นายกรัฐมนตรี หารือ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน