"ลาซาด้า" เริ่มการเลิกจ้างพนักงานในอาเซียนหลายร้อยอัตราสัปดาห์นี้

04 ม.ค. 2567 | 18:34 น.

การปลดพนักงานหลายร้อยอัตราของ "ลาซาด้า" ในหลายประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันพุธ (3 ม.ค.) และจะดำเนินต่อเนื่องไปตลอดสัปดาห์นี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งอย่างช้อปปี้ และติ๊กต็อก

 

ลาซาด้า (Lazada) บริษัท ในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน ได้เริ่มทำการ ปลดพนักงาน ประเดิมศักราชใหม่กลางสัปดาห์นี้ (3 ม.ค.) โดยพนักงานที่ถูกปลดออกในรอบนี้ มีจำนวนหลายร้อยคน ซึ่งรวมถึงพนักงานในทุกระดับ และทุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสำนักงานประจำภูมิภาคและมีพนักงานราว 10,000 คน จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

สำนักข่าว CNBC รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า การปลดพนักงานได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันพุธ (3 ม.ค.) และจะดำเนินไปตลอดสัปดาห์นี้

ลาซาด้า ซึ่งมีการดำเนินกิจการใน 6  ประเทศอาเซียน คือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องปลดพนักงาน แต่บริษัทปฏิเสธที่จะเปิดเผยจำนวนสุทธิของพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างในรอบนี้ ทั้งในสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่บริษัทได้ทำการปลดพนักงานครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ในเดือนต.ค.2566

ลาซาด้าดำเนินกิจการใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เรากำลังปรับเปลี่ยนองค์กรในเชิงรุกเพื่อปรับจำนวนพนักงานของเรา และเพื่อให้บริษัทมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับแนวทางการทำงานที่คล่องตัว เพื่อรับมือกับความจำเป็นด้านธุรกิจในอนาคต” แหล่งข่าวระบุว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวถือว่ามีความจำเป็น

ทั้งนี้ บริษัทได้ทำการประเมินครั้งใหม่สำหรับความต้องการด้านจำนวนพนักงานและโครงสร้างการดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าลาซาด้าจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น ทั้งสำหรับธุรกิจและประโยชน์ของพนักงานในอนาคต

“ความจำเป็น” ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด

ลาซาด้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนมาตั้งแต่ปี 2559 ได้เริ่มปลดพนักงานในสัปดาห์แรกของศักราชใหม่ 2567 ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดกับบริษัทช้อปปี้ และติ๊กต๊อก ในตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งกระแสความคาดหมายที่ว่า บริษัทกำลังจะทำ IPO ในปี 2567 ดังนั้น ลาซาด้าจึงต้องการลดพนักงานเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานและรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต

การแข่งขันที่ดุเดือดมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดรวมทั้งลาซาด้า ต้องปรับตัว

แม้ว่ากลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา อาลีบาบาซึ่งเป็นบริษัทแม่ของลาซาด้า จะประกาศลงทุนเพิ่มในลาซาด้าอีก 634 ล้านดอลลาร์ แต่คู่แข่งอย่างติ๊กต๊อก ซึ่งมีบริษัทไบท์แดนซ์เป็นเจ้าของ ก็ลงทุนหนักเพื่อสร้างโอกาสที่เหนือกว่าในการแข่งขันเช่นกัน โดยติ๊กต๊อกมีแผนจะลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการโทโคพีเดีย (Tokopedia) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย และอินโดนีเซียนั้นก็เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนทั้งในแง่ GDP และจำนวนประชากร

ด้านสำนักข่าว CNA สื่อจากสิงคโปร์ รายงานว่า พนักงานที่ถูกเลิกจ้างในสิงคโปร์บางรายถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อทราบชะตากรรมของตัวเองว่าถูกบริษัทปลดออก พวกเขาบางคนกล่าวว่า การปลดพนักงานในรอบนี้เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน และบางรายถึงกับกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่ยุติธรรม” และ “ไม่โปร่งใส”

นอกจากนี้ บริษัทยังจ่ายเงินชดเชยต่ำกว่าที่คาดไว้ และยังต่ำกว่าที่บริษัทคู่แข่ง เช่น ช้อปปี้ และ แกร็บ จ่ายให้แก่พนักงานเมื่อมีการเลิกจ้างในปีที่ผ่านมา (2566)  

สำนักงานอุตสาหกรรมดิจิทัลของสิงคโปร์ (DIS) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสิงคโปร์ที่สนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีในประเทศ เปิดเผยว่า DIS กำลังทำงานร่วมกับลาซาด้าและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง โดยจะเสนอโอกาสในการทำงานให้กับพนักงานเหล่านี้

ข้อมูลอ้างอิง