2566 ปีเศร้าของผู้สื่อข่าวทั่วโลก กว่าร้อยชีวิตปลิดปลิวขณะปฏิบัติหน้าที่

04 ม.ค. 2567 | 09:58 น.

PEC ชี้ คนทำงานสื่อทั่วโลกถูกคร่าชีวิตมากสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 โดยมีจำนวนรวมสูงถึง 140 ราย ส่วนใหญ่พลีชีพจากลูกหลงขณะทำงานในสมรภูมิแห่งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

 

องค์การเพรส เอ็มเบลม แคมเปญ (Press Emblem Campaign) ซึ่งตั้งอยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยวานนี้ (3 ม.ค.) ระบุว่า จำนวน ผู้สื่อข่าวถูกสังหาร มากเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปี 2566 เป็นปีที่อันตรายร้ายแรงที่สุดในรอบทศวรรษสำหรับ แรงงานภาคสื่อสารมวลชน

องค์การ PEC ระบุว่ามีผู้สื่อข่าวถูกคร่าชีวิตรวม 140 รายในปี 2566 โดยในจำนวนนี้ เป็นการเสียชีวิตใน ตะวันออกกลาง 90 ราย ตามด้วย

  • ลาตินอเมริกา 20 ราย
  • เอเชีย 12 ราย
  • แอฟริกา 11 ราย
  • ยุโรป 4 ราย
  • และอเมริกาเหนือ 3 ราย

2566 ปีแห่งความเศร้าของคนทำงานสื่อ

ส่วนช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2566 มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารเฉลี่ย 1 รายต่อวันในเขตฉนวนกาซา หรือเสียชีวิตรวม 81 รายเป็นอย่างน้อย นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอสราเอลแบบไม่มีใครคาดฝัน

เบลส เลมเปน ประธานองค์การ PEC กล่าวว่า ขอประณามการโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมายเหล่านี้

ทั้งนี้ องค์การเพรส เอ็มเบลม แคมเปญ เป็นองค์กรพัฒนาของภาคเอกชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวนานาชาติ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างการคุ้มครองทางกฎหมายและความปลอดภัยแก่ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ความขัดแย้ง พื้นที่ที่เกิดความไม่สงบ หรือในภารกิจอันตราย

ขอคารวะแด่ร้อยกว่าชีวิตที่ลาลับดับสูญ

การเสียชีวิตของคนทำงานสื่อขณะปฏิบัติหน้าที่ถึง 140 รายในปีที่ผ่านมานั้น เป็นการเพิ่มขึ้นจากสถิติ 115 รายในปี 2565 โดย PEC รายงานว่า ในปี 2565 มีแรงงานภาคสื่ออย่างน้อย 115 ราย ถูกคร่าชีวิตใน 29 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (2564) และในช่วงเวลานั้น ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายที่สุดสำหรับคนทำงานสื่อ คือ ยูเครน และเม็กซิโก โดยพบผู้ทำงานสื่อเสียชีวิตในยูเครน 34 ราย และเม็กซิโก 17 ราย แต่ปัจจุบัน พื้นที่อันตรายที่สุดคือตะวันออกกลาง