ถอดสาระสำคัญ ปฏิญญาผู้นำเอเปค 2023 "Golden Gate Declaration"

17 พ.ย. 2566 | 23:30 น.

เอกสารสำคัญในการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพเรียกว่า ปฏิญญาผู้นำเอเปค Golden Gate Declaration เนื้อหาสาระสะท้อนเจตนารมณ์ระดับผู้นำ ครอบคลุมตั้งแต่การผลักดันการค้าเสรี การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ไปจนถึงสิทธิแรงงาน และเศรษฐกิจดิจิทัล

 

การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ครั้งที่ 30 ที่ นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี 21 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิก รวมทั้งไทย เข้าร่วมการประชุม (16-17 พ.ย.2566) มีการรับรองเอกสารสำคัญ แสดงเจตนารมณ์ระดับผู้นำ ที่เรียกว่า ปฏิญญาผู้นำเอเปค "Golden Gate Declaration" เนื้อหาแสดงประเด็นสำคัญอันเป็นเจตนารมย์ระดับผู้นำ เน้นย้ำความมุ่งมั่นในเรื่องต่าง ๆ แบ่งเป็นหัวข้อได้ ดังต่อไปนี้

การสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เสรี

ว่าด้วยการสร้างสภาวะการแข่งขันที่เท่าเทียมเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี การรักษาตลาดให้เปิดกว้าง และการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น และปลอดภัย โดยการคำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่แรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าการค้าและการลงทุนจะเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนและเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นธรรม

การประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 30 ที่ นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย.2566

การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด

ว่าด้วยการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ยั่งยืน เป็นธรรม ราคาไม่แพง และครอบคลุม สอดคล้องกับเป้าหมายของโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น/การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในหรือประมาณกลางศตวรรษ โดยคำนึงถึงศักยภาพในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และสถานการณ์ภายในเขตเศรษฐกิจเอเปคที่แตกต่างกัน

สนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคเอเปคประมาณ 70% จากแหล่งที่ปลอดคาร์บอน หรือมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2035 โดยดำเนินการให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ของแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปคที่แตกต่างกัน และการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ในภาคพลังงานฟอสซิลอย่างน้อย 50%  จากจำนวนในปี ค.ศ. 2020 ให้ได้ภายใน ปี ค.ศ. 2030 

โดยการลดการเผาไหม้ส่วนเกินให้เหลือน้อยที่สุด ดำเนินการตรวจสอบ และซ่อมแซมการรั่วไหลในภาคน้ำมันและก๊าซอย่างสม่ำเสมอ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการถ่านหิน การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซต่ำและเป็นศูนย์ การใช้เชื้อเพลิงอื่น ในภาคการบิน และการขนส่งทางทะเลที่ปล่อยก๊าซต่ำและเป็นศูนย์และลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในท่าเรือ รวมถึงผ่านการจัดตั้งระเบียงทะเลสีเขียวเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่าน และการลงทุนในภาคขนส่งในภูมิภาคที่ปล่อยก๊าซต่ำและเป็นศูนย์

การสนับสนุนแรงงาน

ว่าด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แรงงาน โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองทุกคน และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นสำหรับทุกคน รวมทั้งการสนับสนุนความเท่าเทียม ทางเพศสภาพและการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สตรี เยาวชน และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ใช้ เช่น กลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม ผู้พิการ และกลุ่มคนจากชุมชนชนบท และชุมชนห่างไกล เป็นต้น

ถ่ายภาพหมู่ผู้นำเอเปคที่เข้าร่วมประชุมในปีนี้

การมีส่วนร่วมในตลาดการสร้างทักษะและขีดความสามารถ การให้โอกาสในการเป็นผู้นำ การมีเสียงและมีอำนาจในการดำเนินการ และการสนับสนุนต่อนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และการใช้เทคโนโลยีของสตรี โดยการลดช่องว่างของอัตราการมีส่วนร่วมระหว่างบุรุษและสตรี ในภาคเศรษฐกิจสีเขียว และสีน้ำเงิน ในเขตเศรษฐกิจเอเปค 25% ภายในปี ค.ศ.2525

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ ระบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม และในขณะเดียวกันก็สามารถลดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขาดแคลนของทรัพยากรลงได้ เช่น การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ขณะที่ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) คือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการประมงที่ยั่งยืน และการแก้ไขปัญหา การทำการประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมนโยบายใส่ใจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการดูแลและจัดการกับความไม่เท่าเทียม ในการกระจายตัวของงานที่ได้รับค่าตอบแทนและงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนและงานในบ้าน สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสตรีและการศึกษาของสตรีและเด็กหญิง การป้องกัน และตอบสนองต่อความรุนแรงทางเพศสภาพและการเลือกปฏิบัติในโลกแห่งการทำงาน รวมถึง เสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการตามกฎหมายนโยบาย และกฎระเบียบ

การเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม

ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน และสนับสนุนให้ทุกเขตเศรษฐกิจดำเนินการ ด้านต่าง ๆ ในลักษณะคล้ายกัน เช่น การชำระเงินแบบดิจิทัล เครือข่ายโทรคมนาคม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการพัฒนาเครื่องมือและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อย่างปลอดภัย รวมทั้งเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มที่ และการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการเดินทางของภาคธุรกิจในภูมิภาคให้มี ประสิทธิภาพและไร้รอยต่อและอำนวยความสะดวกการฟื้นฟูการเดินทางและการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ ในส่วนของไทยนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ซึ่งให้การเห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำเอเปคตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นำเสนอ ระบุว่า ประโยชน์และผลกระทบการดำเนินการตามร่างปฏิญญาฯ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืนและครอบคลุมของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคและของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของไทย รวมทั้งเป็นการสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยเมื่อปี 2565 และสะท้อนบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับความท้าทายและส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน