ไฟตะวันออกกลางลุกลาม เศรษฐกิจโลกช็อก คว่ำบาตรน้ำมันอาหรับหลอกหลอน

31 ต.ค. 2566 | 23:00 น.

ธนาคารโลก ประเมิน 3 ฉากทัศน์ อิงการคว่ำบาตรน้ำมันของอาหรับในปี 1973 หากสงครามอิสราเอลฮามาสขยายวง เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเผชิญภาวะช็อกจากราคาน้ำมัน พุ่งสูงถึง 157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารรุนแรง

สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสดำเนินมา 3 สัปดาห์ มีการยกระดับขึ้นจนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจลุกลามไปทั่วตะวันออกกลาง เเละด้วยกองทัพอิสราเอลซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ระดับโลกสร้างความสูญเสียไปแล้วมหาศาล โดยในช่วงที่ผ่านมามีการโจมตีกันแล้วหลายจุดนอกเหนือจากในอิสราเอลและฉนวนกาซา 

ธนาคารโลก ออกมาเตือนว่า ราคาน้ำมันที่สูงเป็นประวัติการณ์อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่กำลังลุกลาม หากความขัดแย้งขยายออกไปเกินขอบเขตจนเกิดการคว่ำบาตรน้ำมันของอาหรับซ้ำในปี 1973 ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นถึง 157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ข้อมูลนี้ระบุในรายงานแนวโน้มตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2023 

ราคาน้ำมันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือในเดือนกรกฎาคม 2008 เมื่อน้ำมันดิบเบรนท์มีการซื้อขายสูงถึง 147.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามข้อมูลจาก LSEG

3 ฉากทัศน์ ความเสี่ยงของธนาคารโลก

ธนาคารโลกประเมินระดับความหยุดชะงักของอุปทานน้ำมันที่แตกต่างกัน โดยอิงจากเหตุการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในระดับภูมิภาค

ฉากทัศน์ที่ 1 การหยุดชะงักครั้งใหญ่ หากเทียบเคียงกับ การคว่ำบาตรน้ำมันของอาหรับ ในปี 1973 อุปทานน้ำมันทั่วโลกจะลดลง 6 ล้าน- 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ธนาคารโลกกล่าวเเละว่า นั่นจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้น 56% ถึง 75% ในตอนแรก ระหว่าง 140 ถึง 157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

วิกฤตการณ์น้ำมันเมื่อ 50 ปีก่อนส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น 4 เท่าหลังจากรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอาหรับบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ที่สนับสนุนอิสราเอลในสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1973 หรือที่รู้จักในชื่อ "สงครามยมคิปปูร์"

ฉากทัศน์ที่ 2 กรณีการหยุดชะงักเล็กน้อย อุปทานน้ำมันทั่วโลกจะลดลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน เหลือ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นการลดลงเทียบเคียงกับที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองลิเบียในปี 2011

ฉากทัศน์ที่ 3 กรณีการหยุดชะงักปานกลาง อาจทำให้ราคาน้ำมันหลุดออกจากตลาด 3 ล้าน -5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไประหว่าง 109 - 121 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเทียบเท่ากับระดับที่ไปถึงได้ในช่วงสงครามอิรักในปี 2003 

จากการคาดการณ์ทั้งหมดภายใต้ประมาณการพื้นฐานของธนาคารโลก ราคาน้ำมันคาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาสปัจจุบัน ก่อนที่จะลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2024 เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว รายงานยังระบุว่าผลกระทบของความขัดแย้งต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ควรจะจำกัดหากไม่ขยายกว้างขึ้น  โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมคาดว่าจะลดลง 4.1% ในปีหน้า ราคาสินค้าเกษตรคาดว่าจะลดลงในปีหน้าเนื่องจากอุปทานเพิ่มขึ้น ราคาโลหะพื้นฐานก็คาดว่าจะลดลง 5% ในปี 2024 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์คาดว่าจะทรงตัวในปี 2025 

การประเมินดังกล่าวอิงจากความขัดแย้งครั้งล่าสุดในตะวันออกกลางเกิดขึ้นพร้อมกับความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ที่สุดต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 นั่นคือ "สงครามรัสเซีย-ยูเครน" ซึ่งผลกระทบของสงครามดังกล่าวยังเป็นผลกระทบที่ก่อกวนต่อเศรษฐกิจโลกจนถึงทุกวันนี้ 

จนถึงขณะนี้ผลกระทบของความขัดแย้งต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกยังมีจำกัด ราคาน้ำมัน โดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 6 % นับตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้ง ราคาสินค้าเกษตร โลหะส่วนใหญ่ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ แทบจะไม่ขยับขึ้นเลย แต่ความวุ่นวายในตลาดพลังงานอาจทำให้ความไม่มั่นคงด้านอาหารรุนแรงขึ้น

แม้ว่าทั้งอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์จะไม่ใช่ผู้เล่นน้ำมันรายใหญ่ แต่ความขัดแย้งก็ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ผลิตน้ำมันหลักที่กว้างกว่า หากความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะช็อกด้านพลังงาน 2 ครั้ง ซึ่งเกิดเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ไม่ใช่แค่จากสงครามในยูเครนเท่านั้น แต่ยังมาจากตะวันออกกลางด้วย 

การคว่ำบาตรน้ำมัน 1973–1974

สงครามอาหรับ-อิสราเอล ปี1973 สมาชิกชาวอาหรับของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะจัดหากำลังทหารอิสราเอลอีกครั้ง และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในสันติภาพหลังสงคราม การเจรจาต่อรอง สมาชิกโอเปกอาหรับยังขยายการคว่ำบาตรไปยังประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนอิสราเอล รวมถึงเนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส และแอฟริกาใต้

การคว่ำบาตร ห้ามการส่งออกปิโตรเลียมไปยังประเทศเป้าหมายและลดการผลิตน้ำมัน การเจรจาหลายปีระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริษัทน้ำมันได้ทำลายเสถียรภาพของระบบการกำหนดราคาที่มีมานานหลายทศวรรษ ซึ่งทำให้ผลกระทบของการคว่ำบาตรรุนแรงขึ้น

การคว่ำบาตรน้ำมันในปี 1973 สร้างความตึงเครียดอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ เเละส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นกระทบทั่วโลก ราคาน้ำมันต่อบาร์เรลในช่วงแรกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากนั้นจึงเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ส่งผลให้ต้นทุนผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้น และความท้าทายเชิงโครงสร้างต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด 

ที่มาข้อมูล