ผู้นำอาเซียน-6 ประเทศรัฐอ่าวอาหรับ เรียกร้องหยุดยิง-ปล่อยตัวประกันในกาซา

21 ต.ค. 2566 | 08:11 น.

ผู้นำ 10 ชาติอาเซียนและ 6 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ออกแถลงการณ์ร่วม ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เกี่ยวกับพัฒนาการการสู้รบในตะวันออกกลาง เรียกร้องการหยุดยิงและปล่อยตัวประกันพลเรือน-ผู้ถูกจับกุมในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

ใน การประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ผู้นำได้แลกเปลี่ยนทัศนะและแสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อ พัฒนาการการสู้รบในตะวันออกกลาง และเห็นพ้องดังต่อไปนี้

  1. ประณามการโจมตีพลเรือนทุกกรณี และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงที่ยั่งยืนและให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดทางให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เสบียงบรรเทาทุกข์ และปัจจัยพื้นฐาน ตลอดจนการบริการที่จำเป็นอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งการเชื่อมต่อไฟฟ้า น้ำ และให้สามารถลำเลียงเชื้อเพลิง อาหารและยารักษาโรคทั่วพื้นที่ในกาซาโดยไม่มีอุปสรรค
  2. เรียกร้องทุกฝ่ายในความขัดแย้งให้การคุ้มครองต่อพลเรือน ละเว้นจากการมุ่งเป้าต่อคนเหล่านี้ และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักการและข้อกำหนดในอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการคุ้มครองพลเรือนในเวลาสงคราม เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949
  3. เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวตัวประกันพลเรือนและผู้ถูกจับกุมในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะสตรี เด็ก ผู้ป่วย และผู้สูงวัย
  4. เร่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ เพื่อบรรลุแนวทางแก้ไขสองรัฐ บนพื้นฐานของเขตแดนก่อนปี ค.ศ. 1967 ที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
  5. สนับสนุนข้อริเริ่มของซาอุดีอาระเบีย สหภาพยุโรป และสันนิบาตรัฐอาหรับ โดยร่วมมือกับอียิปต์และจอร์แดน ในการฟื้นกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง และแก้ไขข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติของสหประชาชาติทุกข้อที่เกี่ยวกับความขัดแย้งนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566

นายกฯ ย้ำ ผู้นำเวทีอ่าวอาหรับต่างห่วงสถานการณ์ฮามาส-อิสราเอล

วันที่ 20 ตุลาคม เวลา 13.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง) ที่ซาอุดิอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึง ความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล ว่า ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ผู้นำหลายๆ ชาติได้พูดถึง เหตุการณ์ที่เราทุกคนไม่อยากให้เกิดคือสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างฮามาสกับอิสราเอล มีการเรียกร้องขอให้ปล่อยตัวประกันออกมาโดยเร็วเพราะเป็นบุคคลที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ยุติสถานการณ์โดยเร็วด้วยการเจรจาด้วยความสันติ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันของผู้นำ ตนได้นั่งข้างกับกษัตริย์โอมาน ที่มีความคุ้นเคยกับประเทศไทยดีมาก ซึ่งประเทศไทย โดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ลงทุนสูงที่สุดบริษัทหนึ่งในโอมาน การลงทุนในด้านการท่องเที่ยวก็มีมาก สายการบินที่บินสัปดาห์ละ 3-4 วัน ไปประเทศไทย ตนเองบอกว่าอยากให้นักท่องเที่ยวโอมานไปประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งกษัตริย์โอมานก็ตอบรับ เพราะครอบครัวของท่านก็เป็นคนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลในประเทศไทย ชื่นชมการรักษาพยาบาลของประเทศไทย พร้อมหารือกันถึงปัญหาอิสราเอล ซึ่งนายกฯได้แจ้งว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นคู่กรณี แต่สูญเสียมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ หลังจากเสร็จการประชุมครั้งนี้ กษัตริย์โอมานจะรีบเสด็จไปไคโรเพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ และจะมีบรรดาผู้นำบินตามไปสมทบซึ่งจะพูดคุยกันเรื่องความไม่สงบในกาซาและอิสราเอล

นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า หลังการรับประทานอาหาร ได้พบกับมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย อีกครั้ง และท่านตระหนักดีถึงความสูญเสียของคนไทยทั้ง 30 คนและตัวประกันไทยอีก 17 คน ทั้งนี้ ได้พูดคุยกับสมเด็จพระราชาธิบดีของบรูไน ได้แสดงความเป็นห่วงประเทศไทยและตัวประกัน ซึ่งตัวท่านเองก็พยายามพูดคุยกับบรรดาผู้นำต่างๆ เพราะท่านมีความคุ้นเคยและท่านรักประเทศไทย ทุกท่านแสดงความห่วงใยตัวประกัน และตกใจถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ของไทย

อนึ่ง การประชุมสุดยอดอาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ครั้งที่ 1 นี้ มีขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเวทีนี้เป็นการประชุมเป็นครั้งแรกระดับผู้นำของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)